‘ชัชชาติ’ ติดตามงานระบบ - รับคำขออนุญาตต่างๆ เผยงานระบบข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ เร่งทำให้เสร็จ อย่าล็อกสเปก ด้านงานคำขออนุญาต ขอบคุณ ‘อัศวิน’ ที่นำร่องมาก่อน เล็งเพิ่มเติมเรื่องความโปร่งใสนอกจากความสะดวก ก่อนยกระดับ Traffy Foundue รับร้องเรียนทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการจัดทำระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรของกรุงเทพมหานคร (BMA-ERP) และโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA-OSS) เป็นการติดตามความคืบหน้า 2 เรื่อง ประกอบด้วย
1. โครงการจัดทำระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรของกรุงเทพมหานคร (BMA-ERP) ที่ผ่านมากทม.ยังไม่มีระบบนี้ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ วันนี้จึงเป็นการรายงานความคืบหน้าว่าไปถึงไหนแล้ว ที่ผ่านมาการบริหารจัดการข้อมูลเป็นในรูปแบบของแต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการกันเอง ทำให้ข้อมูลไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน หากทำการบริหารจัดการข้อมูลให้ดีจะทำให้เราใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้เน้นย้ำว่าขอให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ได้ราคาถูกที่สุด และได้คุณภาพที่ดี อย่าให้มีการล็อกสเปกใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์
และ 2. โครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือวันสต็อปเซอร์วิส เป็นโครงการที่ได้มีการจัดจ้างไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เป็นระบบที่ทำให้สามารถยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ ได้ที่จุดเดียวและมีการดำเนินการแบบออนไลน์ ทำให้สะดวกขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 217 นโยบายด้วย ต้องขอบคุณทางผู้บริหารชุดที่แล้วได้เริ่มโครงการมาก่อน แต่หัวใจของโครงการไม่ใช่แค่เรื่องอำนวยความสะดวกแต่เป็นเรื่องการสร้างความโปร่งใสด้วย
เพราะว่าจุดประสงค์ของวันสต็อปเซอร์วิส คือต้องลดการใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจของแต่ละบุคคล แต่ละเจ้าหน้าที่ ดังนั้น อะไรที่สามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือไอทีในการตัดสินใจได้ให้ดำเนินการ หากมีรูปแบบหรือขอบเขตงานใดที่ไม่ได้อยู่ในสัญญาให้แนะนำไว้ เช่น เรายื่นแบบก่อสร้าง ระยะเว้น ระยะร่น ถ้าเราส่งข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถดำเนินการตรวจสอบเองเลยได้ไหม ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจ ให้ทั้งหมดเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ AI ตรวจสอบเองได้หรือไม่ เพื่อลดการพบเจอเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้องค์การต่อต้านคอรัปชันก็ให้ความสำคัญ โครงการนี้จะเป็นตัวกลาง ที่นอกจากความสะดวกแล้วก็น่าจะลดเรื่องการทุจริตคอรัปชัน การใช้ดุลพินิจ ปัญหาต่าง ๆ ที่มีคนร้องเรียนเข้ามา
ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าทั้งสองโครงการมีความคืบหน้าและเป็นโครงการที่ผู้บริหารชุดก่อนที่ได้เริ่มไว้ ต้องขอขอบคุณ แล้วเราจะดำเนินการต่อและจะทำตามให้ตรงวัตถุประสงค์ของโครงการและจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
“ในอนาคต Traffy fondue จะมีการรับเรื่องการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสเพิ่มเข้าไป ซึ่งจะแยกเป็นอีกเรื่อง โดยเรื่องความเดือดร้อนปกติทั่วไปประชาชนสามารถแจ้งมาได้ หากมีเรื่องการทุจริต ไม่โปร่งใส หรือมีการเรียกรับค่าใช้จ่าย ก็แจ้งมาได้เช่นกัน แต่ต้องมีการปกปิดข้อมูลผู้แจ้ง นี่ก็จะเป็นอีก 1 ช่องทางที่ประชาชนจะสามารถแจ้งมาได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับระบบ Traffy Foundue คือแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาจากนักวิจัยไทยที่นำทีมโดยนายวสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งผู้พบปัญหาสามารถแจ้งเหตุผ่าน LINE @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw จากนั้นระบบ AI จะวิเคราะห์ข้อมูลและส่งปัญหาไปยังผู้รับผิดชอบในพื้นที่โดยตรง
โดยปัญหาที่รับแจ้งมี14 ประเภท ได้แก่
1) ความสะอาด ขยะ
2) ไฟฟ้า ประปา
3) ไฟถนนเสีย
4) ถนน ทางเท้า
5) อาคารสถานที่ชำรุด
6) อุปกรณ์ครุภัณฑ์ชำรุด
7) จุดเสี่ยง
8) สาธาณภัย: น้ำท่วม ไฟไหม้ เผาไหม้
9) ต้นไม้ กลิ่น เสียง สัตว์
10) ขึ้นทะเบียน ประชาสัมพันธ์
11) ความช่วยเหลือ
12) สุขภาพ
13) เบาะแสทุจริต
14) อื่นๆ