กรมราง ลงพื้นที่ดูงานก่อสร้าง 3 สัญญา ไฮสปีดไทยจีน เผยภาพรวม 14 สัญญา คืบหน้า 11.85% เร่งเนื้องานให้เสร็จเปิดใช้ในปี 2570 ก่อนลงลึกปัญหาทั้ง 14 สัญญา พบติดปัญหาสารพัดทั้งฟ้องร้อง - เวนคืน - ปรับแบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ได้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค
จากเดิมที่มีการลงนามสัญญาและก่อสร้างงานโยธาเพียง 1 สัญญา สามารถเร่งรัดการดำเนินการสัญญางานโยธาของโครงการจนสามารถลงนามและก่อสร้างได้กว่า 10 สัญญา ซึ่งในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่จำนวน 3 สัญญาที่ ได้แก่
1) สัญญาที่ 2 – 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท มีบจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง ความคืบหน้าในการก่อสร้าง 89.40 % กำลังเตรียมติดตั้งช่วงสะพานสุดท้าย (Last Span) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565นี้ และนับเป็นสัญญาที่2ที่งานโยธาแล้วเสร็จต่อจากสัญญา 1-1ช่วงกลางดง-ปางอโศกระยะทาง 3.5กม
2) สัญญาที่ 3 – 4 ช่วงลำตะคอง -สีคิ้วและกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลี่ยนไทยดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้างวันที่ 26 ม.ค. 2564 - 10 ม.ค. 2567 (1,080วัน) ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 27.78% ปัจจุบันรอเข้าพื้นที่เวนคืนประมาณ 10 d,”
และ 3) สัญญาที่ 4 – 7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มีบจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ก่อสร้าง ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ที่ 23% ใกล้เคียงแผนงานปัจจุบันเข้าพื้นที่เวนคืนประมาณ 86ไร่เพื่อก่อสร้างสถานีสระบุรีแห่งใหม่
เมื่อมองในภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน จะมีความคืบหน้าโดยรวม 11.85% ภายหลังโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำชับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินโครงการให้ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
สรุปภาพรวม 14 สัญญา งานโยธา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท งานก่อสร้างมีจำนวน 14 สัญญา สถานะแบ่งเป็น ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.
อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา ซึ่งข้างต้นได้ระบุไปแล้ว 3 สัญญา ส่วนอีก 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.56%, สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 2.73%, สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 2.22%, สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.01%, สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.83%, สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 0.01%
เซ็นสัญญาแล้วเตรียมก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างนั้น ลงนามแล้ว ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืน
ยังไม่ได้ลงนาม 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท เนื่องจากสถานีอยุธยาติดปัญหามรดกโลก โดยต้องศึกษา HIA หรือผลกระทบมรดกวัฒนธรรม ใช้เวลาประมาณ 180 วัน และ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
และยังไม่ได้ประกวดราคา 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังต้องรอข้อสรุปแก้สัญญาสัมปทานของ ซี.พี.