EIC ไทยพาณิชย์ ปรับลดคาดาการณ์การส่งออกไทยปีนี้เหลือโต 5.8% จากเดิม 6.1% เหตุเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัว-เงินเฟ้อเร่งตัวสูงทั่วโลก
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ฉบับล่าสุด โดย EIC ปรับลดประมาณการเติบโตของการส่งออกสินค้าไทยลงเป็น 5.8% จากเดิม 6.1% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นทั่วโลก
“ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศจำเป็นต้องนำเอามาตรการการเงินที่ตึงตัวมาใช้เร็วและแรงมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกในยะยะถัดไป
โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงตลาดยุโรปที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม รวมถึงปัญหาการชะงักของอุปทานที่ยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยจะยังคงได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า การขาดแคลนสินค้าเกษตรในตลาดโลก และระดับราคาสินค้าส่งออกที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export orders) ที่อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน ทำให้ EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกไทย (BOP basis) ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8% จากเดิมในช่วงเดือน มี.ค.ที่ 6.1%” บทวิเคราะห์ EIC ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) การส่งออกไทย มีมูลค่า 122,631.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.9% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 127,358.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 4,726.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าน่าจะยังเป็นบวกอยู่ เพราะในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกไทยยังบวกได้ 12.9% และทั้งปีน่าจะเกินเป้าที่ 4-5%