DSI-ตำรวจภูธรภาค 4 พบหลักฐานชัดกลุ่มบุคคลร่วมฆาตกรรม 'หมวดบอล' ดุริยางค์ทหารบก มทบ.210 คนร้ายก่อเหตุไม่มีต่ำกว่า 2 คน วางแผนสร้างเรื่องอำพราง แบ่งหน้าที่ชี้เป้า สะกดรอยติดตามตั้งแต่ก่อนเข้าค่าย จนถึงจุดเกิดเหตุ
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ด้วยขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างการสืบสวน กรณี ร้อยโท รุ่งเฉลิม พันธุ์สวัสดิ์ หรือหมวดบอล ตำแหน่ง รองผู้บังคับหมวดดุริยางค์ มลฑลทหารบก ที่ 210 (มทบ.210) ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 19.30 น. ว่ามีเหตุสมควรเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือไม่ ซึ่งการสืบสวนมีความคืบหน้าเป็นระยะ ดังที่ปรากฏข่าวแล้ว นั้น
ต่อมา นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้สั่งการให้ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นายวรพจน์ ไม้หอม รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ร้อยตำรวจโทเสฎฐวุฒิ สายป้อง ผู้อำนวยการสถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ และ คณะพนักงานสืบสวน ร่วมประชุมกับคณะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และชุดสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4 เพื่อแจ้งความคืบหน้าและประสานข้อมูลการสืบสวนระหว่างหน่วยงาน และร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง จำลองเหตุการณ์และเส้นทาง ซึ่งจากการสืบสวนเชื่อว่าเป็นเส้นทางในการหลบหนีของคนร้าย
โดยผลการสืบสวนสอดคล้องต้องกันว่า คนร้ายที่ร่วมก่อเหตุครั้งนี้ มีไม่ต่ำกว่า 2 คน มีการวางแผน สร้างเรื่องอำพราง แบ่งหน้าที่ชี้เป้า โดยสะกดรอยติดตามรถผู้ตาย ตั้งแต่ก่อนเข้าค่าย จนถึงจุดเกิดเหตุภายในค่าย และมีการจ้างวานให้คนร้ายอีกคน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย โดยให้ขับหลบหนีหลังก่อเหตุ เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นผู้ลงมือยิง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของพยานในที่เกิดเหตุ จากนั้นเปิดโอกาสให้คนร้ายอีกคนที่เป็นผู้ลงมือยิงผู้ตายหลบหนีซึ่งได้ใช้อีกเส้นทางหนึ่ง และมีบุคคลภายนอกที่เข้ามาพักอาศัยในค่ายในวันเกิดเหตุ ช่วยเหลือคนร้ายหลบหนี ซึ่งหลังจากนี้จะได้ประสานข้อมูลเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป
กรณีดังกล่าวเป็นการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่างพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติฝ่ายสืบสวน และคณะพนักงานสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นวิธีการทำงานภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษพ.ศ. 2547 ที่มุ่งร่วมกันใช้ทรัพยากรของรัฐในการปราบปรามอาชญากรรมสำคัญ