‘ชัชชาติ’ ผนึก ททท. เข็นนโยบาย 12 เทศกาล ตั้งคณะทำงานร่วม สแกน 216 นโยบายที่ตรงกัน พร้อมนับหนึ่งแบรนดิ้ง ‘กรุงเทพฯ’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง ททท. กับ กทม. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 65 มีความเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการดำเนินงาน ทั้งนี้ กทม.ไม่เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเข้าใจตลาดและวิธีปฏิบัติมากกว่า
เรื่องแรก ดูนโยบาย 216 ข้อ ที่สอดคล้องกับนโยบายของ ททท. มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกัน เช่น การทำอัตลักษณ์ของย่าน 50 อัตลักษณ์ เพื่อหาคุณค่าทางวัฒนธรรม, การทำ 12 เทศกาล ซึ่ง ททท.มีเทศกาลอยู่แล้วหลายเทศกาล กทม.เองก็ได้เสนอ 12 เทศกาล คณะทำงานจะมีการหารือในรายละเอียดใน 1 เดือนอาจมีมากกว่า 1 เทศกาลก็ได้ โดยเป็นเทศกาลที่น่าสนใจ เช่น เทศกาลแข่งเรือยาว เทศกาลดอกไม้ เทศกาลหนังกลางแปลง เทศกาลงานคราฟท์
“ททท. มีการจัดงานหลายอย่าง เช่น งานวิ่ง อะเมสซิ่งไทยแลนด์ เป็นส่วนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกัน และมีหลายโครงการที่ทำเป็นรูปธรรมได้ เช่น การผลักดันการท่องเที่ยวในคลองย้อนไปในบรรยากาศเวนิสตะวันออก โดยเลือกคลองที่เหมาะสมแล้วพัฒนาไป อาจขยายจากที่รัฐบาลหรือผู้ว่าฯ อัศวิน ได้ทำไว้ เส้นทางคลองแสนแสบหรือฝั่งธนฯ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวและเสริมสร้างอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ” นายชัชชาติกล่าว
ไอเดีย แบรนดิ้ง กรุงเทพฯ
อีกเรื่องที่สำคัญคือ แบรนดิ่งกรุงเทพฯ จะแบรนดิ่ง (Branding สร้างภาพจำหรือภาพลักษณ์) กรุงเทพฯ อย่างไรให้มีมิติที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทั่วโลก ต้องมีสื่อหลายรูปแบบที่เจาะให้ถึงลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ (segment) เหมือนการสร้างแบรนด์ของกรุงเทพฯ ให้เข้มแข็ง การดึงลูกค้าต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะที่ลูกค้าต่างประเทศยังอ่อนแอ ช่วงแรกต้องเน้นเรื่องลูกค้าในประเทศด้วยเพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้กลับคืนมา ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด และทำให้เป็นรูปธรรม ทุกเดือนต้องมีความก้าวหน้า มีแผนการปฏิบัติงานออกมา ตลาดในหลายที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันตลาดอินเดียมาแรงต้องคุยกับอินเดียว่ามีคอนเทนท์อย่างไรที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาจากอินเดีย
นอกจากนี้ กทม. มีแผนพัฒนาตลาดนัดจตุจักรให้เป็นตลาดนัดระดับโลก การขยายการท่องเที่ยวทางคลองคงขยายยาวขึ้นไปคลองมหานาคไปคลองแสนแสบ เพราะถ้าไปถึงคลองแสนแสบได้จะดี เพราะมีนโยบายทำทางเดินริมคลองให้ดี ดูเรื่องคุณภาพน้ำ ซึ่งคลองแสนแสบดีอย่างที่มีการเดินเรืออยู่แล้วการเดินทางคล่องและสะดวกขึ้น สามารถเดินทางไปถึงมีนบุรีได้ และระหว่างทางมีชุมชน วัด มัสยิด ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ส่วนฝั่งธนฯ ดูคลองภาษีเจริญ คลองแถวทุ่งครุ คลองบางมด จะเลือกคลองเหล่านี้มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
“เอาซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่เรามี เสน่ห์เรื่องอาหาร ความมีน้ำใจ ความอยากมาเที่ยวเมืองไทย ประสานกับการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก โดยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องเร่งดำเนินการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว