สธ.แจง 'อนุทิน' ติดโควิดอาการเล็กน้อย แต่ให้ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ยา เหตุมีปัจจัยเสี่ยงร่วม เข้าข่ายอ้วน ยันไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษการรักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เปิดเผยข้อมูลการรักษากับสื่อมวลชนแล้ว สำหรับข้อมูลผู้ติดตามคนอื่นๆ ก็เป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
ทั้งนี้ นายอนุทิน มีอาการระคายคอเล็กน้อย ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ ตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้ว ตอนนี้ก็พักรักษาที่บ้าน โดยมีอาการน้อยมากเป็นเพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งแพทย์มีดุลยพินิจให้ยาโมลนูพิราเวียร์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ว่า ยาใช้ดูแลตามอาการ บางคนมีอาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา หากมีอาการมากขึ้นตามเงื่อนไขก็จะจ่ายยาตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด(Clinical Practice Guidelines:CPGs) ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยเพิ่งสั่งจ่ายยา เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพ็กซ์โลวิด
เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนที่มองว่า นายอนุทินได้รับวัคซีนโควิด-19 มากแล้วแต่ยังติดเชื้ออยู่ ทำให้หลายคนไม่อยากฉีด นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วัคซีนโควิดมีประโยชน์ ผลการศึกษาวัคซีนบูสเตอร์โดสพบว่า ป้องกันติดเชื้อได้ถึง 80-90% ซึ่งหมายถึง 10% ที่เหลือก็ยังติดเชื้อได้อยู่ แต่ป้องกันความรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 99%
อย่างไรก็ตาม สธ.ได้เร่งรัดให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่พบว่ายังมีความเชื่อที่ผิดว่าแม้ฉีดวัคซีนหลายเข็มแต่ยังติดเชื้อทำให้ไม่มารับวัคซีน แต่ต้องย้ำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ปกติเรากระตุ้นวัคซีนปีละครั้ง แต่ด้วยโรคไม่ยอม ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงต้องกระตุ้นซัก 3 เดือน เพื่อลดความรุนแรงของโรค แต่ก็เน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันตัวเอง 2U คือ universal prevention และ universal vaccination ซึ่งเป็นหลักกับการอยู่ร่วมโควิดในระยะ Post pandemic หรือเป็นระยะหลังการระบาดใหญ่
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ว่า การจ่ายยาตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ชัดเจนว่า โมลนูพิราเวียร์ใช้สำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยอาจจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งต้องเรียนว่าข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ แต่ถ้าประเมินด้วยสายตา จะเห็นว่าท่านรองนายกฯ น้ำหนักเกิน จะว่าเข้าข่ายว่าอ้วนก็อ้วน และมีอาการเล็กน้อย โดยหลักการก็เข้าข่ายว่าสามารถให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ ซึ่งท่านอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ แพทย์ที่รักษาก็ประเมินแล้วว่าเข้าข่าย ซึ่งเป็นการให้ปกติตามเกณฑ์
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การจ่ายยารักษาโควิดนั้น ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย ก็ดูตามอาการไป บางท่านอาจกินฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่สามารถให้ได้ ถ้าเริ่มมีอาการเล็กน้อย แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่อ้วน น้ำหนักไม่เกิน ก็จ่ายยาฟาวิพราเวียร์ให้เร็วที่สุด ถ้าอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น น้ำหนักเกิน อ้วน หรือกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ให้ยาตัวใดตัวหนึ่งได้ ทั้งโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิดหรือยาฉีด หรือถ้ามีอาการปอดอักเสบแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีดเรมดิซิเวียร์ได้เลย หรือร่วมกับยาสเตียรอยด์บางอย่าง ก็ตรงไปตรงมาตามนี้
"กรณีของท่านรองนายกฯ ก็ยืนยันว่า แพทย์ประเมินแล้วว่าเข้าข่ายให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ เลย การจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์สามารถให้แบบผู้ป่วยนอกได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว
ถามว่าจะปรับเกณฑ์แนวทางการจ่ายยาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ มีการปรับมาอย่างต่อเนื่อง อย่างตอนยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดเข้ามา อาจารย์หลายท่านบอกอยากปรับเกณฑ์ให้เอื้อมากขึ้น เพราะการศึกษาวิจัยทั้งโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดออกมาคล้ายกัน คือ ให้ในคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็ชัดเจนว่าควรให้ ถ้าอาการมากแล้วก็ไม่แนะนำว่าให้ โดยเฉพาะโมลนูพิราเวียร์ชัดเจนว่า ถ้าอาการมากแล้วไม่สามารถลดอัตราการเข้า รพ.หรือเสียชีวิตได้ ให้แนะนำเป็นยาฉีด
"กรณีของท่านรองนายกฯ ยืนยันอีกครั้งว่าคุณหมอที่ดูแลประเมินแล้วว่าเข้าข่ายให้ยาโมลนูลพิราเวียร์ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์อะไรเป็นพิเศษ" นพ.สมศักดิ์กล่าว