‘ชัชชาติ’ หารือผู้บริหารเทศบาลนครยะลา ปมภาษีที่ดิน-ร่างพ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ชมยะลาพัฒนาไปมาก มีทั้งสายไฟลงดิน-วงออร์เคสตร้าเยาวชน จ่อทำ Friendship City ร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การพบกับนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) พร้อมคณะ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ กทม. ได้ต้อนรับคณะจากส.ท.ท. ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เมืองยะลามากมาย ที่เห็นชัดเจนคือการเอาสายสื่อสารลงดินในเมือง
ทั้งนี้ จะเห็นว่าเทศบาลหลายแห่งล้วนมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน หลายครั้งที่แต่ละเทศบาลสามารถหาคำตอบของปัญหาได้และเทศบาลอื่นนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ แนวคิดเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าพลังของการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้เมืองยะลายังมีวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาที่มีชื่อเสียง ซึ่ง กทม. จะเชิญให้มาร่วมเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนมากแน่นอน
“ในอนาคตจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเมืองฉันท์มิตรในลักษณะ Friendship City เพื่อให้ทั้งสองเมืองได้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆกัน รวมถึงการร่วมเป็นเมืองฉันท์มิตร หรือเมืองเพื่อน กับเมืองอื่นๆ เพื่อให้เห็นพลังของท้องถิ่นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้เห็นว่าหากท้องถิ่นทำได้ดี ชีวิตของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้นด้วย” นายชัชชาติระบุ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ทั้งกรุงเทพมหานคร พัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล สิ่งสำคัญของการปกครองท้องถิ่นคือพวกเราอยู่ใกล้ชิดประชาชน รับรู้ความยากลำบากและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนปัญหาข้อจำกัดต่างๆของท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจ การเงินการคลัง โดยเฉพาะเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
จากการหารือในวันนี้พบว่ากทม.ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ลดภาษี ให้จัดเก็บเพียง 10 % เช่นกัน ซึ่งท้องถิ่นถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนระดับรากหญ้า เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนรากหญ้ามีความสุข มั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี และต่อภาพเล็กๆจากหลายท้องถิ่นให้กลายเป็นภาพใหญ่ของประเทศ ประเทศก็จะมีความมั่นคงเช่นเดียวกัน ซึ่งในวันนี้ก็ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าฯ ในเรื่องของการดำเนินการเมือง Friendship City เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งทุกคนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป้าของทุกคนคือการทำงานเพื่อประชาชน
หารือภาษีที่ดิน-แก้ พ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น
“สำหรับเรื่องที่หารือในวันนี้และเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกลดจากเดิม 100% เหลือเพียง 10 % เชื่อว่าทุกท้องถิ่นรายได้หายไป กว่า 19,000 ล้าน และรัฐบาลยังไม่ได้มีการคืนกลับมาให้ ซึ่งคงต้องมีการทำข้อเรียกร้อง อีกส่วนคือการหารือรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชาชนสามารถลงชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้ ภายหลังการเลือกตั้ง 6 เดือน และจำนวนของผู้ที่ลงชื่ออาจจะไม่มากนัก ในขณะที่ไม่ครอบคลุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นปัญหาหนึ่งที่จะทำให้การทำงานลำบากขึ้น ซึ่งต้องเข้าไปดูในรายละเอียดและจะจัดทำเป็นข้อสังเกตและข้อหารือส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร” นายชัชชาติกล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ถอดถอนดังกล่าว จะมุ่งถอดถอนเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รวมถึงกทม.และเมืองพัทยาด้วย ประเด็นข้อสังเกตคือ 1.ความลักลั่นคือการบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นไม่รวมการเมืองระดับชาติ 2.ขั้นตอนการถอดถอนและระยะเวลา เดิมยื่นถอดถอนภายใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ขณะนี้ลดเหลือ 6 เดือน ซึ่งทำให้ภายหลังการเลือกตั้ง เพิ่งเริ่มเข้าทำงาน สามารถเริ่มกระบวนการถอดถอนได้เลย โดยประชาชนจำนวนไม่มากสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นสอบสวนได้ หากพบว่าสอบสวนแล้วไม่ผิดก็สามารถยื่นถอดถอนต่อได้อีก ซึ่งเห็นว่าหากสอบสวนแล้วไม่พบความผิดควรจะจบเรื่องได้
ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เห็นว่าควรมีกระบวนการถ่วงดุลของการใช้อำนาจ ยกตัวอย่างเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงแม้จะให้ใบแดงแต่ก็ต้องส่งฟ้องศาลวินิจฉัยต่อ แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะถึงที่สุดที่ผู้กำกับดูแล เช่น ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะสิ้นสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในส่วนของเทศบาลจะสิ้นสุดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด
แก้ภาษียาสูบ-โรงแรม หวังตุนรายได้เพิ่ม
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดเก็บภาษี กทม.ต้องไปแก้กฎหมายการจัดเก็บภาษีทั้งยาสูบและโรงแรม การพิจารณาภาษีที่ควรจะเก็บแต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ อาจเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการจ่าย หรือเรียกเก็บจากผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นภาระในการดูแลรักษา อีกส่วนคือปัญหาฐานข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีความละเอียดและเปลี่ยนรูปจากเดินประเมินจากรายได้เป็นประเมินจากข้อมูล ในขณะที่ฐานข้อมูลยังไม่ครบถ้วน สามารถประเมินได้เพียง 60 % บางส่วนเมื่อประเมินไปแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพอาคารไปมาก และประชาชนบางส่วนมีการอุทธรณ์ ซึ่งกทม.ต้องรีบเร่งในการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากมีผลต่อรายได้จำนวนมาก
เราเปลี่ยนจากภาษีโรงเรือนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแนวคิดเป็นคนละส่วนกัน จากแนวคิดเปอร์เซ็นต์ของรายได้มาเป็นมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง หลายอย่างก็มีข้อกังวล อาทิ หากมีเสาโทรคมนาคมอยู่ที่ตึกหนึ่ง เราสามารถคิดภาษีได้ เนื่องจากเสาโทรคมนาคมถือว่ามีรายได้ แต่หากเป็นภาษีที่ดินและปลูกสร้างจะถือว่าเสานี้เป็นส่วนควบอาคาร ไม่มีการเก็บภาษี ทำให้ฐานภาษีหลายอย่างหายไป ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าสุดท้ายแล้วรายได้จะเพิ่มขึ้นหรือหายไปเท่าไหร่
“การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ อย่างวันนี้กทม.ก็เริ่มกระจายอำนาจให้ประชาชน ในการแจ้งเหตุ บอกเรื่องต่างๆ ทำให้ทุกอย่างเดินดีขึ้น ราชการตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนได้ดีขึ้น ทุกคนเห็นตรงกัน อาจอยู่ที่รายละเอียดแตกต่างกันไป ส่วนเรื่องภาษี เราต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากที่สุด อัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ต้องพยายามแก้ปัญหาจุดนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสุดท้ายแล้วต้องเก็บภาษีให้ยุติธรรม เก็บให้ครบถ้วน และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย”ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว