‘ชัชชาติ’ ร่วมปัจฉิมกถา 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย้ำยังเป็แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยอยู่ ก่อนมองการเมืองใหม่ต้องมากับเนื้อหาและทางออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวปัจฉิมกถาในวาระ 90 ปีประชาธิปไตยไทย หัวข้อ ‘90 ปี ประชาธิปไตย ก้าวต่อไปของประชาชน : ประสบการณ์ประชาธิปไตยผ่านมุมมองการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.’ จัดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า ตนน่าจะถือเป็นน้องใหม่เกือบล่าสุดของระบบประชาธิปไตย เพราะมีคนน้องใหม่กว่าตน คือนายกเมืองพัทยา ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองหลังตน ทั้งนี้ เราพูดถึงประชาธิปไตย 90 ปีมานี้มันเครียด มีแต่เรื่องที่หดหู่ เรื่องที่หมดความหวัง แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีความหวัง เป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องรับคบเพลิงต่อ โดยจะเล่าประสบการณ์ว่า ประชาธิปไตย หรือแนวคิดที่ทำให้เราได้คะแนน 1.38 ล้านเสียงนั้น เชื่อว่าเป็นคะแนนหรือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เป็นการเมืองระบบเก่า
ทั้งนี้ อยากจะฝากคนรุ่นใหม่ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้น่ากลัว การเลือกตั้งอาจจะมองว่า เป็นคนละบริบทกับเรา เป็นเรื่องของนักการเมือง แต่ตนไม่คิดว่า ตนจะเป็นนักการเมืองจ๋า ตอนที่สมัครผู้ว่าฯ เราเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนโฉมการเมือง จากนักการเมืองอาชีพไปสู่คนที่เป็นนักคิด มีความหวัง สร้างความหวัง
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะไม่รู้จะไปลาออกกับใคร ไม่รู้จะไปยื่นใบลาออกกับใครเหมือนกัน ตอนนี้ก็คือมี 2 ตำแหน่ง ผู้ว่าฯกทม.ด้วย และตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แต่ส่วนตัวลาออกจากพรรคเพื่อไทยมา 3 ปีแล้ว เลยมี 2 ตำแหน่ง แต่ตำแหน่งหลังไม่มีเงินเดือน ลาออกมาตอนนั้นก็ตัดสินใจเป็นอิสระแน่นอน ก็จะมาทำผู้ว่าฯกทม. เริ่มฟอร์มทีม 3-4 คน มี 3 คำถามที่เราต้องถามตัวเองเสมอ ถ้าเกิดรุ่นน้องอยากทำการเมือง มันไม่ได้น่ากลัว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เราเข้าใจสิ่งที่เราทำดีหรือไม่ ตรงนี้สำคัญ การสมัครผู้ว่าฯกทม. เป็นตำแหน่งสำคัญ ถามว่า เข้าใจสิ่งที่ทำดีพอหรือไม่ อันนี้คนที่ทำการเมืองต้องคิด เพราะเรามีลูกจ้างและข้าราชการ กทม. 80,000 คนที่ทำเรื่องนี้มาตลอดชีวิตเขา และคนที่จะมาเป็นผู้นำถามว่า เข้าใจเรื่องการกวาดถนน การระบายน้ำ ขยะ การจราจร เรื่องฝุ่น ดีพอเท่ากับคนที่อยู่หรือไม่ ฉะนั้น การเมืองไม่ใช่เรื่องที่อยากจะมาเล่นการเมือง แต่มันคือเรื่องของเทคนิคที่ต้องเข้าใจระดับหนึ่ง อย่างน้อยต้องเข้าใจมากกว่า หรือเท่ากับคนที่เขาทำประจำอยู่แล้ว แต่การเมืองที่ผ่านมาเราไม่เป็นอย่างนั้น อยากเล่นการเมือง มีคะแนนเสียงได้ ชนะได้ แต่ไม่เคยมองด้านเทคนิค ว่าเรามีความสามารถหรือเปล่า นี่คือโจทย์สำคัญโจทย์แรก
นอกจากนั้น ต้องคิดด้วยว่า เราสนุกกับการทำงานหรือไม่ อันนี้ถามทีมงานตลอด การเมืองไม่ใช่เรื่องของความหดหู่ และเป็นความหวัง หน้าที่เราไม่ได้ต้องสร้างความกลัว แต่เราต้องสร้างความหวัง เคยบอกแล้วว่า จะเป็นผู้นำแห่งความหวัง ไม่เคยพูดว่า อย่าไปเลือกคนนู้นคนนี้น่ากลัว ไม่เคยพูด และประชาธิปไตยในอนาคตไม่ได้น่ากลัว เด็กรุ่นใหม่ทุกคนทำได้ ทุกคนมีความสามารถทั้ง 3 เรื่องนี้แน่นอน เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีโอกาสเปลี่ยนแลนด์สเคปการเมืองใหญ่ วิธีคิด วิธีทำนโยบาย วิธีรวมอาสาสมัคร จะเห็นสิ่งใหม่ การใช้อารมณ์ ความเกลียดชังจะลดลง ใช้เหตุผลมากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า การเมืองยุคใหม่ต้องมาด้วยเนื้อหาและมาด้วยทางออก ไม่ใช่มาด้วยการสร้างความกลัวความเกลียด แบ่งกลุ่มคน นั่นคือสิ่งที่เราทำ โลกประชาธิปไตยในอนาคตมีนีซมาร์เก็ตเยอะ ต้องมีทางออกที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ ซึ่งแคมเปญของตนส่วนใหญ่ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่คิด ตนไม่ได้คิด ถือเป็นอนาคตของประชาธิปไตยที่ตอบโจทย์และมีคุณภาพ ที่เด็กรุ่นใหม่ต้องมีส่วนร่วม อย่างป้ายหาเสียง รับรองว่า ไม่มีใครเลือกตนเพราะป้ายใหญ่ หรือใครเลือกตนเพราะป้ายเยอะ ก็ไม่อยากให้มาเลือกเพราะป้ายเยอะ แต่อยากให้เลือกตนเพราะเห็นนโยบาย เลยใช้ป้ายขนาดเล็ก ก็เป็นแคมเปญที่มาจากคนรุ่นใหม่ แล้วใช้ป้ายน้อยกว่าด้วย
"กลายเป็นว่า ป้ายน้อย ป้ายเล็ก คนเห็นป้ายอื่นคิดถึงป้ายเรายิ่งดีขึ้นอีก ป้ายเราก็ยืนเด่นท้าทาย พายุมาก็ไม่ล้มไม่พัง ไม่ใช่ไสยศาสตร์ว่าเราแข็งแกร่ง แต่ป้ายมันเล็ก ลมมันไม่พัด ไอ้ป้ายใหญ่ลมพัดพังหมด พวกนี้คือวิธีสื่อสารของคนรุ่นใหม่ เพราะบางทีเราเอาคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำการเมือง ไม่มีโมเดลเก่าในสมอง เขาเลยคิดฟุ้ง แล้วผมคิดว่าเป็นประชาธิปไตยที่สนุก ทำแล้วมีความสุข มีคนถาม แต่ก่อนมีนโยบาย 3-4 อันเอง นโยบายเขียนในกระดาษเล็กๆ ก็ได้ แต่ของเรา เราบอกไม่พอ เราขอ 214 นโยบาย คนถามว่าชัชชาติเวอร์เปล่า เยอะไปไหม แต่นาทีนี้ต้องบอกว่า โห... โคตรดีใจเลย ที่มี 200 กว่านโยบายเพราะมันสามารถทำได้เลย ผมว่า 200 นโยบายไม่เยอะหรอก เทรนด์ของการเมืองโลก คุณต้องมีนโยบายที่ละเอียด ให้คนศึกษานโยบายคุณ ต้องออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ และอนาคตการเมืองเปลี่ยนไป ต้องมีเทคนิค มีนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น และต้องทำงานหนักมากขึ้น ถ้าคิดว่า พูดง่ายๆ สัญญาไปเถอะแล้วก็ลืม ทำได้ ไม่ได้ช่างมัน ไปตายเอาดาบหน้า หมดยุคแล้ว" ผู้ว่าฯกทม. กล่าว