‘ศักดิ์สยาม’ ติดตามโปรเจ็กต์ไฮสปีดไทยจีน เหลือ 3 สัญญาสุดท้ายติดหล่มด้านกฎหมาย-ปรับแบบก่อสร้าง-ต้องทำงานร่วมกับโครงการอื่น สั่งจบปัญหาภายในเดือน ก.ค. 65
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมติดตามแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาเร่งรัดการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาออกเป็น ทั้งหมด 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา
โดยรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน จะใช้ระบบรถไฟใช้ประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit)
กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 กิโลวัตต์ มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที
โดยนายศักดิ์สยาม มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ที่ยังมีประเด็นในสัญญา 3 – 1 ช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า, สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และสัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการของโครงการ
ย้อนภูมิหลัง 3 สัญญาอลเวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 3 สัญญาดังกล่าว ติดปัญหาสำคัญในหลายประการ สำหรับสัญญาที่ 3-1 เดิมกิจการร่วมค้า BPHB-TIM SEKATA JV (ประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง, บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี, นายชาตรี เขมาวชิรา) เป็นผู้ชนะโครงการ ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้านี้ขาดคุณสมบัติในการประมูล จึงได้ให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC NO.10.JV (ประกอบด้วย บมจ.บจ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป :CREC และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
ต่อมาทาง บจ.นภาก่อสร้าง ยื่นร้องกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง และมีผลวินิจฉัยให้กลุ่ม BPHB-TIM SEKATA JV กลับมาได้งานอีกครั้ง ทำให้กลุ่ม ITD-CREC NO.10.JV ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางแต่ไม่เป็นผล จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และมีผลให้กลุ่ม ITD-CREC NO.10.JV กลับมาเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ขณะที่สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างงานร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ล่าสุด การประชุมบอร์ด ร.ฟ.ทง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 บอร์ดได้รับทราบผลการดำเนินการแล้ว และให้ ร.ฟ.ท. นำผลการเจรจาของคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ร.ฟ.ท., คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบจ.เอเชีย เอรา วัน (กลุ่มบริษัท ซี.พี.) ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ เสนอ สกพอ.ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ซึ่งในการก่อสร้างโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รองรับความเร็ว 250 กม./ชม.ด้วย โดย มีความเห็นของคณะกรรมการบริหารพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่ให้เอกชนดำเนินการโดยรัฐไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยปรับระยะเวลาการใช้คืนค่าก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบินให้เร็วขึ้น
ด้านสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ติดปัญหากรณี สถานีอยุธยาติดเงื่อนไขมรดกโลกโดยต้องศึกษา HIA หรือผลกระทบมรดกวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างจัดจ้างศึกษา HIA โดยจะใช้เวลาประมาณ 180 วัน