‘ชัชชาติ’ เซ็นประกาศให้ชุมนุมบน 7 สถานที่ในความดูแลของ กทม. เผยเกณฑ์ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 1 วัน , ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯอย่างเคร่งครัด และห้ามทำลายทรัพย์สินราชการโดยเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ 2558 และมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 โดยมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้
1. สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ได้แก่ ลานคนเมือง เขตพระนคร, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง, ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร, ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ และสวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน
ทั้งนี้ ลักษณะ ขนาดพื้นที่ และความสามารถในการรองรับผู้เข้าร่วมชุมนุมของ 7 สถานที่ ดังกล่าว มีรายละเอียดตามแผนผังและตารางแนบท้ายประกาศนี้ ในส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ
1. ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม
2. การแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ตามข้อ 1 กระทำได้ตังต่อไปนี้ 1. แจ้งโดยตรงต่อสำนักงานเขต 2. แจ้งทางโทรสาร และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร 3. แจ้งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถแสดงหรืออ้างอิงหรือเข้าถึงเพื่อนำกลับมาใช้ในภายหลังและยังคงความครบถ้วนของข้อความในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถระบุตัวผู้ส่งได้ และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร
ทั้งนี้ ในการแจ้งทางโทรสาร และไปรษีย์อิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดกรณีที่มีข้อสงสัย สำนักงานเขต พื้นที่อาจแจ้งให้ผู้แจ้งส่งต้นฉบับเอกสารขอใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
3. ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะได้ภายในกำหนดเวลา ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มการชุมนุม เพื่อให้การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วน ผู้จัดการชุมนุมจึงควรแจ้งสำนักงานเขตล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมตามความเหมาะสม
4. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการ มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมและ
ผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ
5. การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของ
ประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แห่ง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
6. หากสำนักงานเขตพื้นที่หรือเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตรวจพบว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565