กมธ.งบปี 66 สแกนงบ ‘คมนาคม’ 1.8 แสนล้าน จี้แก้รถเมล์ขาดช่วง-ส่งเสริมการมใช้รถไฟฟ้า ก่อนแจงนัดเอกชนถกสัปดาห์หน้า ก่อนเปิดแผนพัฒนาแอปฯ คาดเสร็จใน 6 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.พรรครวมพลัง และนายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 3 คนในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เปิดเผยว่า กมธ.ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด ใช้เวลา 11 วัน รวม 101 ชั่วโมง
ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วรวม 3 กระทรวง 7 หน่วยงาน 3 กองทุน คิดเป็น 11.1 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมดโดย เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 65) ได้พิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม งบประมาณทั้งสิ้น 180,502,023,700 บาท
โดยพิจารณางบประมาณหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม 7 หน่วยงาน วงเงินงบประมาณรวม 14,703 ล้านบาท จาก ทั้งหมด 13 หน่วยงาน ดังนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงินรวม 517 ล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงินรวม 285 ล้านบาท , กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงินรวม 3,548 ล้านบาท, กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงินรวม 116 ล้านบาท , กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงินรวม 4,732 ล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงินรวม 5,303 ล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน วงเงิน 202 ล้านบาท
ซึ่งในการพิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงคมนาคมที่ประชุมได้มีการสอบถามและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานลดค่าใช้จ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มี กมธ. ให้ข้อเสนอแนะว่า กระทรวงคมนาคมควรปรับเกณฑ์ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งช่วยเหลือค่าภาษีเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น และให้ช่วยลดค่าภาษีครอบคลุมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 2 ล้านบาทถ้วน เพื่อสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์จากต่างประเทศนอกเหนือจากบริษัทรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงว่าจากข้อเสนอแนะของ กมธ. ที่ต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาเกิน 2 ล้านบาทด้วยนั้น ประเด็นนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายในภาพรวมของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเลขานุการ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานจะนำข้อเสนอแนะของ กมธ. ไปเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป
ขนส่ง นัดสัปดาห์หน้าถกรถร่วมแก้รถขาดช่วง
ส่วนในการพิจารณางบประมาณของกรมขนส่งทางบก ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของประชาชนเรื่องจำนวนรถประจำทางสาธารณะที่มีการให้บริการน้อยลง โดยสอบถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้รวมถึงการปรับเปลี่ยนหมายเลขประจำทางของรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
ผู้แทนของกรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า หน่วยงานกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อยู่โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานให้ภาคเอกชนที่ร่วมเดินรถประจำทางสามารถประกอบกิจการเพื่อบริการประชาชนต่อไปได้ นอกจากนี้ หน่วยงานจะมีการจัดโซนนิ่งและเลขหมายของรถประจำรถโดยสารประจำทางใหม่เป็นสี่โซนเพื่อให้ผู้โดยสารรับทราบว่ารถประจำทางแต่ละโซนมีต้นทางอยู่ที่ทิศทางหรือโซนใด แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การดำเนินการในช่วงแรกอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำลังจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนทราบว่ารถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ มีกี่สายจะมีรถสายใดผ่านถนนที่ประชาชนอยู่บ้างและต้องรอกี่นาที รวมทั้งหากประชาชนต้องการเดินทางไปที่ใดสามารถบอกได้ว่าต้องขึ้นรถโดยสารสายใดนอกจากนี้รถโดยสารที่จะเดินรถใหม่จะต้องติดตั้งระบบ GPS และมีระบบ AI ที่กำกับดูแลจำนวนผู้โดยสารบอกตำแหน่งรถและเวลาที่รถมาถึงได้ โดยกระบวนการทั้งหมดจะสามารถใช้ได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
สำหรับการพิจารณางบประมาณของกรมท่าอากาศยานที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเปิดเส้นทางการบินใหม่ในจังหวัดท่องเที่ยวเขตพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโรค
ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย พร้อมทั้งเสนอแนะให้กรมท่าอากาศยานจัดให้มีสายการบินเชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยว และให้มีการคมนาคมที่สะดวก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทย ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศไทย