'หมอยง' แนะวิธีการตรวจ ATK ในผู้สัมผัสโรค-เสี่ยงสูง ชี้ไม่ต้องตรวจบ่อย ตรวจในวันที่ 3 และ 7 ก็เพียงพอแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ผู้ที่ตรวจพบโควิด 19 ด้วย ATK ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ATK มีเนื้อหาดังนี้
เราใช้วิธีการตรวจ ATK กันมาก และรู้จักคำว่า 2 ขีด แปลว่าตรวจพบ แอนติเจนของไวรัส
ATK เกือบทั้งหมด ใช้ nucleocapsid โปรตีน ดังนั้นถ้าเอาวัคซีนเชื้อตาย Sinovac มาหยอดใส่ ATK จะได้ผลบวก ( 2 ขีด) ส่วนวัคซีนอื่น แม้กระทั่ง Covovax (Novavax) จะให้ผลลบ เพราะเป็นโปรตีนส่วนสไปรท์
ความไวของ ATK สู้การตรวจด้วย RT PCR ไม่ได้ (ความไวจะประมาณ 60 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์) ATK ที่ให้ผลบวกจะอยู่ในช่วงที่มีปริมาณไวรัสสูง หรือ Ct ของ RT-PCR ต่ำกว่า 28
ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ ATK 2 ขีดมีความจำเพาะสูง ดังนั้นส่วนมากที่ตรวจพบ 2 ขีดจะเป็นการติดเชื้อจริง ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะตรวจพบ ATK เป็น 2 ขีด ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงหลังมีอาการ 3 ถึง 5 วัน และก็จะให้มีเปอร์เซ็นต์การให้ผลลบเพิ่มขึ้น โดยที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหลัง 10 วันไปแล้ว ATK มักจะให้ผลลบแล้ว ตรงข้ามกับ RT-PCR จะยังคงให้ผลบวกหรือตรวจพบอยู่หลายสัปดาห์
ผู้ป่วยที่มีอาการมากจะตรวจพบ ATK ผลบวกอยู่ได้นานกว่าผู้ที่มีอาการน้อย แต่โดยรวมแล้วเมื่อเกิน 10 วันไปแล้วส่วนมาก (มากกว่า 90%)จะให้ผลลบ
สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจ ATK ซ้ำ หรือติดตามว่าเมื่อไหร่จะให้ผลลบ โดยทั่วไปแล้วเชื้ออยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่กระจาย และมีชีวิตติดต่อได้ หรือตรวจพบได้จากการเพาะเชื้อ ไม่เกิน 10 วัน ในคนที่แข็งแรงและภูมิต้านทานปกติ การกักตัวปัจจุบันจึงให้อยู่ในเกณฑ์ 7 วัน หลังมีอาการขึ้นอยู่กับอาการมากหรือน้อย หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการลดการแพร่กระจายเชื้อ จนครบ 10 วัน
ในผู้สัมผัสโรคและมีความเสี่ยงสูง ควรตรวจ ATK ในวันที่ทราบหรือสัมผัสโรค และหลังจากนั้นตรวจในวันที่ 3 และ 7 ก็เพียงพอแล้ว