เริ่มวันนี้! บช.น.คุมเข้มกฎจราจรใน กทม. โดนใบสั่ง ไม่จ่ายค่าปรับ ถูกออกหมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนออกหมายจับ-ถูกส่งชื่อไปกองทะเบียนประวัติอาชญากร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิธิพร จินตกานนท์ รอง ผบช.น.ประชุมการบังคับใช้กฎหมายกรณีประชาชนไม่ชำระค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก โดยมี รอง ผบก.น.1-9 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.ต.ต.จิรสันต์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยปัจจุบันมีปัญหาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ สาเหตุเกิดจากผู้ขับขี่ไม่เคารพกฎจราจรในประเด็นนี้ตำรวจมีการบังคับใช้กฎหมายตลอดมาแต่ปรากฏว่าการบังคับใช้กฎหมายยังมีอุปสรรคที่ทำให้ผู้ขับขี่ไม่มาชำระค่าปรับและยังมีการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งตรงนี้เป็นการเพิ่มปัญหาอุบัติเหตุและเพิ่มปัญหาการจราจร บช.น.ดำเนินการภายในต้นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้ควบคุมดูแลงานจราจรได้มีนโยบายใน บช.น.ไปดำเนินการหาแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภพมากยิ่งขึ้น และจากการหารือจากทุกองบังคับการ ตั้งแต่ บก.น.1-9 ที่ดูแลด้านการจราจร ได้ข้อสรุปเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
เมื่อพบผู้กระทำความผิดจะต้องออกใบสั่งที่มีอยู่ 3 รูปแบบ ใบสั่งเล่มที่เขียนให้ด้วยมือ ใบสั่งทางไปรษณีย์ และใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อออกใบสั่งไปแล้วทางไปรษณีย์ผู้ถูกออกใบสั่งไม่มาชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง หลังจากออกใบเตือนไปแล้วยังไม่มาชำระค่าปรับจะมีการแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี และจะมีการออกหมายเรียกไปยังผู้กระทำความผิด 2 ครั้ง เมื่อออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้วยังไม่มาเสียค่าปรับจะรวบรวมหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ เมื่อออกหมายจับแล้วจะเกิดผลกระทบหลายเรื่อง เมื่อออกหมายจับแล้วตำรวจจะประสานฝ่ายปกครองจะทำให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับเสียสิทธิ์ในการทำนิติกรรมหรือสัญญาต่างๆ เพราะหลังถูกออกหมายจับชื่อจะถูกนำออกไปอยู่ทะเบียนกลาง การจะทำนิติกรรมต่างๆจะทำไม่ได้
พล.ต.ต.จิรสันต์ เผยอีกว่า นอกจากนั้นเมื่อถูกออกหมายจับแล้วจะอยู่ในข้อมูลสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนทั่วราชอาณาจักรตำรวจสามารถทำการจับกุมดำเนินคดีได้ อีกอย่างกรณีที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ข้อมูลตรงนี้จะถูกส่งต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทำให้อยากลำบากต่อการเดินทางออกนอกประเทศ อีกอย่างเมื่อถูกออกหมายจับแล้วชื่อจะถูกส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร เมื่อไปสมัครงานที่ใดก็ตามจะพบข้อมูลของผู้ทำผิด
“ทั้งนี้เนื่องจากผู้กระทำผิดกฎหมายด้านการจราจรไม่มาชำระค่าปรับเกิดพฤติกรรมเคยชิน ทำความผิดซ้ำๆ จากการตรวจข้อมูลบางรายมีใบสั่งถึง 59 ครั้ง บางหน่วยทั่วประเทศอาจถึงเกือบร้อยครั้ง นี้จึงเป็นมาตรการที่ตำรวจนครบาลดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตามความมุ่งหวังที่แท้จริงอยากให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร สิ่งที่คาดหวังไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่เกิดความสูญเสียเกิดการบาดเจ็บกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนผู้สัญจรไปมา เจ้าหน้าที่ไม่ได้มุ่งหวังบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน ที่ต้องดำเนินการเพื่อคนไม่เกรงกลัวกฎหมายเลยกระทำความผิดซ้ำจนกระทบต่อปัญหาจราจรและเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ข้อบังคับนี้จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ 1 ปี จะมีระบบในการตรวจสอบใครกระทำความผิดเน้นผู้กระทำความผิดบ่อยครั้งกระทำผิดซ้ำๆ
พล.ต.ต.จิรสันต์ ยังกล่าวต่อถึงขั้นตอนก่อนที่จะมีการออกหมายเรียกหรือหมายจับว่า มีขั้นตอนการดำเนินการมีระยะเวลาให้ไปเสียค่าปรับทั้งใบสั่งเล่ม ใบสั่งทางไปรษณีย์จะมีระยะที่กำหนดให้ไปเสียค่าปรับ เมื่อไปเสียค่าปรับแล้วถือว่ายังไม่ถูกดำเนินคดีอาญาหรือถูกออกมายจับ หรือหลังจากถูกออกใบสั่งแล้วแต่ยังไม่ได้ไปเสียค่าปรับกระทั่งถูกออกใบเตือนแต่ถ้าไปเสียถือว่ายังไม่กระทบประวัติ แต่จะกระทบประวัติเมื่อถูกแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีออกหมายเรียกให้มาเสียค่าปรับแล้ว 2 ครั้งยังไม่มาจะถูกขอศาลออกหมายจับ เมื่อศาลออกหมายจับแล้วจะกระทบต่อตัวผู้กระทำความผิดทันที แต่ถ้าถูกออกหมายจับแล้วไปชำระค่าปรับพนักงานสอบสวนจะทำเรื่องยกเลิกหมายจับและถอดประวัติออก โดยมาตรการนี้ขณะนี้ดำเนินการในเฉพาะเขตกรุงเทพฯก่อน
ขณะที่ พล.ต.ต.นิธิพร รอง ผบช.น.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เป็นห่วงแก๊งคอลเซ็นต์จะนำมุขนี้ไปไปใช้กับบุคคลที่มีหมายจับที่อาจจะร้อนตัวเพราะโทรมาตรงตัว นโยบายของ บช.น.ที่ปฏิบัติตามนโยบายของพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ รอง ผบ.ตร.ยืนยันว่าตำรวจไม่มีนโยบายโทรไปตามให้มาจ่ายค่าปรับหรือให้โอนเงิน อย่าหลงกลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ไปพบตำรวจอย่างเดียว