'อนุทิน' ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ 2565 กำกับให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองใช้ประโยชน์สมุนไพรควบคุม ยกเว้นห้ามใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูลรอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ 2565 โดยที่พิจารณาเห็นว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 44 มาตรา 43(3) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นพืชในตระกูล แคนนาบิส(Cannabis) เป็นสมุนไพรควบคุม
ข้อ 2 ให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการใช้ประโยชน์ดังต่อไปนี้ (1)การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ (2)การใช้ประโยชน์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร (3)การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
ข้อ 3 อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมตามข้อที่ 1 ให้กับผู้ป่วยของตน และ
ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการควบคุม กำกับการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า
นโยบายกัญชา มีกระแสตอบรับดีมาก เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ มีการเข้าแอพพ์ ปลูกกัญ กันอย่างมหาศาล แต่ก็ต้องมีแนวทางการควบคุมการใช้ ตามข้อเป็นห่วงของสังคม วันนี้ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามที่กรมการแพทย์ไทยฯเสนอเพื่อ แก้ไขข้อวิตกกังวล กฎหมายนี้ จะกำหนดให้ใช้กัญชาได้ในผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เด็กวัยเรียน เยาวชนไม่สามารถใช้และเข้าถึงกัญชาได้ หากไม่มีแพทย์อนุญาต นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามใช้ สูบ ใช้เสพในที่สาธารณะ
ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายสาธารณสุขทั้งระดับท้องถิ่นใช้ในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาไม่เหมาะสม โดยก่อนหน้านี้ กรมอนามัยได้ออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 แต่เพื่อลดความเป็นห่วงของประชาชน ก็ต้องลงนามให้กัญชาเป็นพืชชสมุนไพรควบคุมด้วย
“ขอย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ เราวางแผน และเดินหน้าควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ ขอย้ำว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถ้าใช้กันอย่างถูกต้องตามกฎกรอบที่วางไว้ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น แต่นี่กลับพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็ต้องใช้กฎหมายเข้าไปควบคุม” นายอนุทิน กล่าว