‘ชัชชาติ’ หารือทูตอังกฤษ-ACT-กรมบัญชีกลาง จ่อผุด Open Data เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่า กทม., และนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่า กทม. ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ประกอบด้วย Mr.Andrew Beirne ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง, นายนที ทองจันทร์ ที่ปรึกษาโครงการ Global Future Cities, Mr.Petter Matthews กรรมการบริหาร CoST International Secretariat, นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT, นายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ หัวหน้าทีม Democratic Governance and Social Advocacy โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme) และนางภัทรพร วรทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง โดยคณะได้ร่วมกันหารือในประเด็น Open Data ของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 65
สำหรับการเข้าพบในครั้งนี้เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อพัฒนา Open Data ของ กทม. และกรณีตัวอย่างการดำเนินการ Open Procurement ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย CoST โดยเป็นกรณีตัวอย่างของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ CoST- the Infrastructure Transparency Initiative (CoST) คือ หน่วยงานด้านการส่งเสริมความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบภาครัฐ ซึ่งทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 20 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเผยและการตีความหมายข้อมูล เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น สนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงาน พร้อมทั้งปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบข้อมูลที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กทม.เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งในโครงการขนาดใหญ่และมีระยะเวลาสัญญายาวนาน หากตรวจพบปัญหาเพียงเล็กน้อยและแก้ไขได้ทัน จะทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของผู้ว่า กทม. ด้านบริหารจัดการดี : หันหน้าให้ประชาชน ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการรวมแพลตฟอร์มที่มีอยู่กับแพลตฟอร์มของกรุงเทพมหานครเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น