กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กลิ่น ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เริ่ม 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรเลี่ยงใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งลงนามโดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การนำกัญชาไปใช้ที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 1) กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท อยู่เดิม 2) ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3) เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ และ 4) มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา
“ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ ส่วนบุคลทั่วไป ให้เลี่ยงการใช้เพื่อสันทนาการเช่นเดียวกัน และหากบุคคลใดหรือสถานที่ใดก่อให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ถือว่ากระทำการอันเป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” นพ.สุวรรณชัย กล่าว