กมธ.งบปี 66 ถาม ‘สรรพสามิต’ แก้น้ำมันแพง-ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนภาคใต้ แจงเพียงประเด็นค้าน้ำมันเถื่อนเป็นการทำงานร่วมอีก 5 หน่วยงาน จี้ สคร.สั่งรัฐวิสาหกิจช่วยประชาชนบ้าง อย่าเอาแต่ทำรายได้สูงอย่างเดียว ด้าน ‘ยุทธพงศ์’ จี้ กรมศุลฯแจงจัดซื้องบซ่อมบำรุง ‘กล้องซีซีทีวี-สแกนตู้คอนเทนเนอร์’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกมธ. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ได้พิจารณางบประมาณของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังเพิ่มเติม อีก 6 หน่วยงาน กับอีก 1 แผนงาน ประกอบด้วย 1.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 2. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 3. สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) 4. กรมศุลกากร 5. กรมสรรพสามิต 6. กรมสรรพากร
ทั้ง 6 หน่วยงาน กับอีก 1 แผนงาน ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 304,360.893 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ วงเงิน 261,908,840,000 บาท มีงบในส่วนแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ส่วนราชการ 1 หน่วยงาน 6 รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 26,649,404,800 บาท, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) วงเงิน 117,160,100 บาท, สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) วงเงิน 580,000,000 บาท, กรมศุลกากร วงเงิน 3,641,154,800 บาท, กรมสรรพสามิต วงเงิน 2,217,291,900 บาท และ กรมสรรพากร วงเงิน 9,247,042,200 บาท
ถามหาทางแก้น้ำมันแพง-ค้าน้ำมันเถื่อน
ในที่ประชุม ได้หารือกับกรมสรรพสามิต ถึงการช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤติน้ำมันแพง และจะจัดการกับผู้ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งผู้แทนของกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า ในเรื่องการปราบปรามผู้ค้าน้ำมันเถื่อนมีการบูรณาการร่วมกันของ 5 หน่วยงานเพื่อปราบปรามผู้ค้าน้ำมันเถื่อน ได้แก่ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมธุรกิจพลังงาน, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและกรมสรรพสามิต โดยทั้ง 5 หน่วยงาน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 138 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยให้ใช้งบประมาณร่วมกันของทั้ง 5 หน่วยงาน ทำให้กรมสรรพสามิตได้รับงบประมาณเพียง 7,550,000 บาท เท่านั้น แม้ว่าหน่วยงานจะเป็นผู้ตั้งคำของบประมาณในส่วนนี้ก็ตาม แต่ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำมันแพงไม่ได้มีการชี้แจงถึง
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ยังได้ประมาณการการจัดเก็บภาษีและรายได้ทั้งหมดของกรมสรรพสามิตในปี 2566 มีจำนวน 567,000 ล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้
1. ภาษีน้ำมัน 218,000 ล้านบาท 2. ภาษีรถยนต์ 97,000 ล้านบาท 3. ภาษีเบียร์ 85,000 ล้านบาท 4.ภาษีสุรา 62,000 ล้านบาท 5. ภาษียาสูบ 69,000 ล้านบาท 6. ภาษีเครื่องดื่ม 24,200 ล้านบาท 7. ภาษีรถจักรยานยนต์ 3,900 ล้านบาท 8. ภาษีแบตเตอรี่ 3,500 ล้านบาท 9. ภาษีอื่น ๆ 1150 ล้านบาท และ 10. รายได้เบ็ดเตล็ด 850 ล้านบาท
จี้ สคร. สั่งรัฐวิสาหกิจช่วยประชาชน
นอกจากนั้น ยังได้หารือกับ สคร. ถึงการกำกับดูแลนโยบายของรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องไม่เน้นเฉพาะการให้รัฐวิสาหกิจแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีภารกิจช่วยเหลือประชาชนด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนจ่ายค่าบริการให้รัฐวิสาหกิจสูงมาก ทำให้บางรัฐวิสาหกิจมีผลกำไรสูงตามไปด้วย อันเนื่องมาจากเป็นธุรกิจผูกขาดไม่มีคู่แข่ง ประกอบกับเอางบประมาณไปใช้ในโฆษณาและสนับสนุนกีฬาบางประเภท จึงมองว่าอาจเป็นช่องทางของการทุจริตและใช้งบประมาณโดยเสียเปล่า
ซึ่งผู้แทน สคร. ชี้แจงว่า แต่ละหน่วยงานมีระบบประเมินผลการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งมี KPI กำกับ ส่วนการลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และรัฐวิสาหกิจมีภารกิจขยายการลงทุนด้วยเหมือนกัน แม้การลงทุนบางครั้งจะไม่คุ้มทุน แต่ต้องทำเพื่อเป็นการบริการประชาชน เช่น รัฐวืสาหกิจด้านประปา-ไฟฟ้า จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ขยายท่อประปา หรือสายไฟไปในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น แม้พื้นที่นั้นๆ จะมีประชาชนอยู่อาศัยน้อย แต่ก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนการโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ จะทำหนังสือเวียนแจ้งว่า ให้ทำเฉพาะภารกิจที่จำเป็นต่อส่วนรวมเท่านั้น
ซัด กรมศุลฯ ปมจัดซื้องบซ่อมบำรุง
ขณะที่นายยุทธพงศ์ ระบุเพิ่มเติมว่า ในการประชุมงบประมาณเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 65) ได้ซักถามกรมศุลกากร ถึงการกำหนดค่าบำรุงรักษากล้องวงจรปิดตามด่านทั่วประเทศ 5 ปี (2563 - 2567) วงเงิน 670 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 วงเงิน 77 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 73 ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 72 ล้านบาท ปี 2566 วงเงิน 72 ล้านบาท และปี 2567 วงเงิน 72 ล้านบาท จึงอยากถามว่ารู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า แต่ละปีใช้งบซ่อมบำรุงเท่าไหร่ จึงให้กรมศุลกากรไปตรวจสอบมา คาดว่าการตั้งงบส่วนนี้เกี่ยวพันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำมาหากินกับกรมฯ
ประเด็นต่อมา เครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ โครงการระยะ 2-4 วงเงิน 1,800 ล้านบาท เช่นกันซื้อเครื่องแล้ว ต้องซื้อค่าบำรุงเหมือนกล้องวงจรปิด แบ่งค่าบำรุงรายปีเป็น ปี 2563 วงเงิน 201 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 197 ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 197 ล้านบาท ปี 2566 วงเงิน 197 ล้านบาท และปี 2567 วงเงิน 197 ล้านบาท คำถามเดียวกัน รู้ได้อย่างไรว่าจะเสียเงินซ่อมในจำนวนนี้ จึงให้ไปเอารายละเอียดการสั่งซื้อมาชี้แจงกรรมาธิการในภายหลัง เพราะปกติต้องมีการรับประกันอย่างน้อย 2 ปี