ตัวแทนชาวบ้าน 2 ตำบล อ.มวกเหล็ก ยื่นหนังสือต่อ ‘บก.ปปป.’ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ล่อลวงให้ชาวบ้านเซ็นเอกสาร จนทำให้ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ‘สปก.’
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. มีชาวบ้าน 20 คน จาก ต.ลำพญากลาง ต.ลำสมพุง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี นำโดยนายธวัชชัย สวาทกลาง เข้ายื่นหนังสือต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้อง รวม 8 ราย กรณีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการฉ้อฉลล่อลวงให้ประชาชนลงชื่อในแบบฟอร์มเอกสาร อันนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดิน สปก. โดยมิชอบ
นายธวัชชัย กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.พ.2563 เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ จัดให้มีการประชุมชาวบ้านที่ถือครองเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สปก. ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ออกไปชักชวนให้ชาวบ้านลงชื่อในเอกสารบันทึกการสำรวจโครงการสำรวจข้อมูลเตรียมการเพื่อจัดหาที่ดินและแผนที่ขอบเขตในพื้นที่ป่าไม้ถาวร ปีงบฯ 2563 และแบบบันทึกสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
โดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวอ้างว่า การลงชื่อในเอกสารแบบบันทึกสำรวจฯ เป็นกระบวนการนำเอกสารสิทธิ์ สปก. ของชาวบ้านไปปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน มีชาวบ้านลงชื่อในเอกสารแบบบันทึกสำรวจฯประมาณ 50 แต่ต่อมาชาวบ้านกลุ่มนี้มาทราบข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เอกสารที่ได้เซ็นชื่อไปนั้น เป็นเอกสารที่นำไปสู่การยินยอมสละสิทธิ์ในที่ดิน สปก. ที่ถือครองอยู่ ส่งผลให้ชาวบ้านทั้ง 50 คน ซึ่งถือครองที่ดิน สปก. รวม 500 ไร่ ต้องถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ สปก.ไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าต่อมาในเดือน มี.ค.2563 ทางอำเภอมวกเหล็กจะประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ถูกเพิกถอน สปก. ดังกล่าว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนยื่นเรื่องต่อ บก.ปปป. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งในวันนี้ (9 มิ.ย.) ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 20 คน จึงมายื่น บก.ปปป. อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ
นายธวัชชัย ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยังคงมีเจ้าหน้าที่รัฐลงไปชักชวนให้ชาวบ้านที่ถือครองเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สปก. ลงชื่อในเอกสารแบบสำรวจฯ โดยชาวบ้านบางส่วนไม่รู้ว่า หากลงชื่อไปแล้วจะต้องถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ สปก. ขณะเดียวกัน มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ สปก. เพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สปก. ของชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่า ทั้งๆที่เอกสารสิทธิ์ สปก. ดังกล่าว เป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ชาวบ้านบางรายที่ได้รับมรดกที่ดิน สปก. จำนวน 20 ไร่ หลังจากบิดาเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าที่ดิน สปก. ที่ได้รับโอนเป็นมรดกหายไป 9 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ สปก. แจ้งว่า ที่ดิน สปก. ดังกล่าวอยู่ในเขตป่า
(ที่มา : เอกสารแบบบันทึกสำรวจฯ ซึ่งชาวบ้านลงนาม ก่อนจะถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ สปก.ในเวลาต่อมา)