สำนักอัยการสูงสุด ออกหนังสือแจ้งแนวทางการบังคับคดี สอดรับนโยบายปลดล็อกกัญชา วันที่ 9 มิ.ย. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 นายกฤษฎา วิชพันธุ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด สำนักอัยการสูงสุด ลงนามในหนังสือเรื่อง แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในการมีผลใช้บังคับของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 แจ้งถึงรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด เลขาธิการสถาบันนิติวัชรั อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบัน เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงาน ระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึง แจ้งว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงสมควรกำหนดแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในการมีผลใช้บังคับของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ดังต่อไปนี้
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
ข้อ 1 (3) กำหนดให้เฉพาะ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโตรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาที่ปลูกภายในประเทศ และสารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงมีผลให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศและจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามที่ระบุในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดิม ได้แก่ เปลือก ลำตัน เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ กาก หรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป
ฉะนั้น เมื่อนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับพืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีก
การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชาก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2565 และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
อันเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้น สิ้นสุดลง
2. ผลของกฎหมายดังกล่าว หากเป็นกรณีอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดี ให้พนักงานอัยการมีความเห็นและคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพราะเป็นกรณีมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำความผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 (6)
ส่วนพืชกัญชาของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 134 ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ริบ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85
3. กรณีที่จะขอให้ศาลเพิ่มโทษ บวกโทษ หรือนับโทษต่อจากคดีอื่น พนักงานอัยการไม่อาจนำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชามาเป็นเหตุที่จะขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษ บวกโทษที่รอไว้ หรือให้นับโทษต่อจากคดีอื่นในการกระทำผิดของจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
4. การดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาในชั้นศาล หากคดีดังกล่าวมีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาเพียงกรณีเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอ้างเหตุสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไป หากเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลขั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้พนักงานอัยการดำเนินการตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 และข้อ 49
5. กรณีการดำเนินการบังคับคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินหรืออายัด สิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา ให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี พ.ศ. 2563 ข้อ 25 ประกอบข้อ 47