ม็อบยื่นคำขาดให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมรวมกลุ่ม 'อนุชา' เข้าเจรจารับหนังสือ ด้าน 'วิษณุ' แจงไม่ได้ออกกฎหมายควบคุม เผยยังเปิดรับฟังความคิดเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 กลุ่มขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ประมาณ 200 คน นำโดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่นำมวลชนปักหลักพักค้างอยู่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก เพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร และกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน
ทางแกนนำได้ประกาศให้มวลชน ตั้งขบวนเพื่อเดินขบวนไปทำเนียบฯรัฐบาล ในการเพื่อทวงถาม 3 ข้อเรียกร้อง และขอให้ ครม. หยุดและถอนร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับออกจากการพิจารณาของ ครม. ขณะที่ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดูแลรักษาความปลอดภัย และการจราจร โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำแผงเหล็กมาปิดการจราจร บน ถ.ราชดำเนินนอก และบนสะพานมัฆวาน ไม่ให้กลุ่มใช้เส้นทางมุ่งหน้าทำเนียบ
ต่อมาผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทางสะพานมัฆวานแต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กและลวดหีบเพลงมาปิดกั้นการจราจรไว้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้โปรยกระดาษใบปลิวซึ่งเมย์ข้อความต่างๆ อาทิ “ทวงคืนสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่ม , ยกเลิกกฎหมายการรวมกลุ่มทุกฉบับ, การรวมกลุ่มคือรากฐานประชาธิปไตยรัฐบาลจังไรอย่าเสือก” บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยบางส่วนได้ทำการฉีดพ้นข้อความ ลงบนพื้นถนน
ทั้งนี้ จากการเจรจา เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มเดินทางผ่านบริเวณแยกมัฆวานรังสรรค์ เนื่องจากในพื้นที่มีสถานที่สำคัญ หลายแห่ง จากนั้นทางผู้ชุมนุมได้เปลี่ยนเส้นทางเคลื่อนขบวน ไปใช้เส้นทาง – เลียบคลองผดุงกรุงเกษม มุ่งหน้าแยกเทวกรรม เลี้ยวซ้าย แยกนางเลิ้ง โดยตลอดการเคลื่อนขบวนแกนนำได้กล่าวปราศรัยผ่านรถขยายเสียง ตลอดเส้นทาง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำกลุ่ม No NPO BILL กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชองของครม.ไปแล้วมองว่าเป็นการทำลายสิทธิของประชาชน จึงขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินการโดยทันที
เมื่อเวลา 10.30 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ออกจากห้องประชุมครม.เพื่อไปรับข้อเรียกร้องจากประชาชน พร้อมระบุว่า ต้องการขอเวลาศึกษาข้อเรียกร้องดังกล่าวสัก1 เดือน แต่ตัวแทนมวลชนไม่เห็นด้วยเพราะเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้นายอนุชา บอกว่า จะนำเรื่องเสนอ ครม. ส่วนผลเป็นอย่างไรไม่สามารถให้คำตอบได้
"มีความจริงใจที่จะมารับฟังปัญหา แต่การที่จะให้ ครม.มีคำตอบภายในวันนี้ คงต้องร่วมกันพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นต้องขอเวลา 1 เดือน เพื่อไปศึกษาทางออกร่วมกัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งเสียงโห่ ก่อนที่ตัวแทน จะระบุว่า ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีมาแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และยืนยันว่าจะต้องได้คำตอบจาก ครม.ภายในวันนี้" นายอนุชา กล่าวยืนยัน
ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ยื่นคำขาดจะปักหลักชุมนุม เพื่อรอคำตอบจากครม. พร้อมระบุว่าหากเป็นผลออกมาที่ไม่น่าพอใจ ยืนยันจะเดินหน้าต่อต้านให้ใหญ่กว่าเดิม
อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม มีสาระสำคัญเพื่อการวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาสังคม ที่อยู่ในรูปแบบสมาคม มูลนิธิ หรือคณะบุคคล ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร เพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง อีกทั้งต้องไม่ทำการที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก
'วิษณุ' ยันไม่ได้ออกกฎหมายควบคุม แต่ให้เอ็นจีโอเปิดเผยรับเงินต่างชาติ
ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายที่อ้างว่าเป็นการทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ว่าจริงๆแล้วกฎหมายที่ว่าไม่ใช่กฎหมายคุมม็อบ เป็นกฎหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีชื่อเต็มๆว่า ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการดำเนินการขององค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งการส่งเสริมมีหลายแบบ เช่นให้เงินอุดหนุน ลดภาษี ให้เวทีสำหรับดำเนินการ
แต่ยอมรับว่าร่างดังกล่าวมีการใส่อะไรบางอย่างเพื่อควบคุมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่องค์กรสาธารณะประโยชน์หรือเอ็นจีโอ ที่รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ของเดิมไม่ต้องรายงานต่อรัฐ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เขาไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศทำกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องในประเทศเราไม่ไปยุ่งอะไรเลย ขณะที่พรรคการเมืองไม่สามารถรับเงินจากต่างประเทศได้เลย และก่อนหน้านี้ทูตหลายประเทศที่มาพบนายกฯหรือพบตนก็ยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความเป็นห่วง แต่ร่างนี้ยังไม่ไปถึงไหน ยังไม่เสร็จสิ้น และในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้นำปัญหาของผู้ชุมนุมแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบแล้ว
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯสั่งการให้รับข้อสังเกตทั้งหมดส่งย้อนไปให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นเจ้าของร่าง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุง เนื่องจากขณะนี้ขั้นตอนกฎหมายอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และยังไม่เสร็จเพราะมีหลายมาตรา ครม.รับหลักการไปเป็นปีแล้ว กฎหมายยังไม่ไปถึงขั้นไหน จะยังไม่เข้าสภาฯในสมัยประชุมนี้ คงไม่มีอะไรที่น่าวิตก
“ยืนยันกฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับการปิดกั้นการชุมนุมเลย เป็นเพียงการให้เอ็นจีโอต้องรายงานการรับเงินจากต่างประเทศ แง่รัฐบาลก็ต้องอยากรู้เพราะดำเนินกิจการอะไรหลายอย่าง แต่ก็มีจุดอ่อนจุดโหว่อะไรหลายอย่าง เช่นเอ็นจีโอนิยามคืออะไร คนเดียวหรือสองคนเป็นเอ็นจีโอหรือไม่ ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นเอ็นจีโอหรือไม่ เป็นสิ่งที่เขาวิตก เพราะครอบคลุมกว้างขวาง ซึ่งยังต้องไปดูและปรับปรุงกันอีก” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่ากฎหมายดังกล่าวถือเป็นการปิดปากและตัดท่อน้ำเลี้ยงเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ตัดเพราะเราไม่ได้ห้ามรับ รับได้แต่ให้รายงาน และร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีเพดานการรับเงิน รับเท่าไหร่ก็รายงาน เวลาต่างประเทศถามมาเราจะได้บอกเขาถูกว่าเงินเอาไปใช้ทำอะไร เมื่อถามอีกว่าหากรับเงินมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ได้ผิดกฎหมายพรรคการเมือง และเอ็นจีโอก็ต้องไม่ทำเรื่องการเมืองอยู่แล้วหากจะทำก็ต้องไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง รวมถึงกฎหมายดังกล่าวยังสามารถตรวจสอบเงินที่ได้มาบริสุทธิ์หรือไม่