กสม. เผยผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 64 ห่วงเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความเห็นยังถูกจำกัด - หยิบยกกรณีเด็กอายุ 14 จบชีวิตตัวเองขึ้นตรวจสอบเพื่อวางแนวทางคุ้มครองสิทธิเด็กเชิงระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 18/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
ผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนปี 2564 เสรีภาพการชุมนุมยังถูกจำกัด
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยประจำปี 2564 และได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 โดยได้ประมวลเหตุการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 จากการทำงานของ กสม. ทั้งในส่วนข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ และแถลงการณ์ การประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ซึ่งสามารถสรุปผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้ดังนี้
1) สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ปี 2564
ในปี 2564 รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนผ่านการให้บริการป้องกันและรักษาโรคอย่างทั่วถึง ในช่วงแรกที่วัคซีนมีจำนวนน้อยพบปัญหาการกระจายวัคซีน และยังมีบางกลุ่มที่อาจจะตกหล่นหรือยังคงมีอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีน ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจพบปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานจากการเลิกกิจการของผู้ประกอบการจำนวนมาก ขณะที่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน มีทั้งการชุมนุมโดยสงบและมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองและการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ดี มีบางเหตุการณ์ที่การชุมนุมและการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่ง กสม. เคยมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีการชุมนุมทางการเมืองไปแล้ว
2) สถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ปี 2564 มีหลายกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินคดีล่าช้าของพนักงานสอบสวน ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับการพิจารณาสิทธิประโยชน์ในเรื่องการพักโทษ ลดวันต้องโทษจำคุกและสิทธิประโยชน์อื่น ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในส่วนร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... มีความก้าวหน้าอย่างมาก ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา นอกจากนี้มีการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ด้วย
สำหรับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติการก่อความไม่สงบและผู้ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงเล็กน้อย ภาพรวมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. ในปีที่ผ่านมา แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกรณีอาจกระทบต่อสิทธิและสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชน เช่น การตรวจ DNA ของประชาชนในพื้นที่ ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีการดำเนินคดีในระหว่างการชุมนุมสาธารณะและในสื่อสังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล และรัฐบาลมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด 19 แต่การออกข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ซึ่งเปิดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในวงกว้าง อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อมวลชนที่เกินกว่าเหตุ
3) สถานการณ์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิแรงงานหลายประการ เช่น การแก้ไขปัญหาการว่างงาน การช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ดียังมีปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายมีขั้นตอนที่ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ด้านสิทธิในสุขภาพ ยังคงพบปัญหา เช่น แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่เป็นเด็กบางส่วนยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ คนไร้บ้านไม่มีบัตรประจำตัวแสดงตนเพื่อขอรับบริการ และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ด้านการศึกษา รัฐบาลมีความพยายามจัดการศึกษาให้สามารถดำเนินต่อไปได้ผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก โดยสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์การศึกษา อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาแบบออนไลน์เป็นระยะเวลานานเกินไปอาจกระทบต่อการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษา
ด้านสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้สำรวจการถือครองที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และจัดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ยากไร้ แต่ความคืบหน้ามีจำกัด จึงยังคงมีการบุกรุกพื้นที่และดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอยู่เป็นระยะ สำหรับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีการจัดทำร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติซึ่งรวมถึงการเลือกปฏิบัติในการทำงานด้วย รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดมาตรการให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลนโยบายและการดำเนินงานที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนผ่านการจัดทำรายงานประจำปีที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของบริษัท
4) สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคล
ด้านสิทธิเด็ก มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้แก่เด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยปรับเพิ่มอายุขั้นต่ำของความรับผิดทางอาญาจากเดิมอายุไม่เกิน 10 ปีเป็นไม่เกิน 12 ปี แต่มีปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็กโดยเฉพาะการกลั่นแกล้ง (Bully) และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ พบอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิบางประการ เช่น การเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เรียกเก็บจากผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรคในการได้รับบริการจากรัฐ
ในส่วนคนพิการ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คนพิการที่มีบัตรประจำตัวได้รับเบี้ยคนพิการในอัตราเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐยังมีจำนวนน้อย และคนพิการยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะและข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังขาดมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันและคุ้มครองสตรีและเด็กหญิงพิการที่ถูกล่วงละเมิด
ด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศ มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับการใช้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของสตรีตามมาตรา 305 ของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2564 อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ในส่วนของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ มีคนที่ได้รับสถานะหรือสัญชาติไทยจำนวนไม่มากเนื่องจากปัญหาด้านบุคลากรที่ปฏิบัติงานมีจำนวนน้อย งบประมาณจำกัด และกลไกการพิจารณาคำขอสถานะยังขาดความคล่องตัว ในส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ นโยบายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐส่งผลกระทบทำให้ต้องย้ายที่อยู่อาศัย และบางกรณีที่ทำกินที่รัฐจัดให้ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตดั้งเดิม บางครั้งจึงนำไปสู่การจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์
“ในภาพรวมกล่าวได้ว่ารัฐบาลมีความพยายามในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายด้าน แต่ยังคงมีปัญหาที่เป็นความท้าทายในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการจัดการปัญหา ทั้งนี้ กสม. จะติดตามทั้งในส่วนพัฒนาการที่เป็นความก้าวหน้าและส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรค และร่วมมือกับทุกฝ่ายในการแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” รองเลขาธิการ กสม. กล่าว
กสม.ยกกรณีเด็กหญิงอายุ 14 ปี ฆ่าตัวตาย ขึ้นตรวจสอบ หาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาเชิงระบบ
ตามที่เกิดเหตุเด็กหญิงอายุ 14 ปี มีภาวะซึมเศร้าจากปัญหาครอบครัวและด้านเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความบกพร่องในการให้ความช่วยเหลือดูแลเด็กโดยครอบครัวและโรงเรียนนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเด็กและเยาวชนที่ถูกละเลยจากสังคม ขาดความเข้าใจ การคุ้มครองทางร่างกาย จิตใจและพัฒนาการ จนเกิดปัญหาสุขภาพจิต และโอกาสในการศึกษา กสม. ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและญาติมิตรของเด็กหญิงรายดังกล่าวด้วย
กสม. ได้พิจารณากรณีที่เกิดขึ้นแล้วมีความเห็นในเบื้องต้นว่า เด็กทุกคนควรได้รับการดูแลปกป้องจากทุกภาคส่วนในสังคม เด็กต้องมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา อันสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งได้ให้หลักประกันไว้ในข้อ 3 ว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันทางสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก” โดยเฉพาะข้อ 19.1 ที่กำหนดว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ในด้านนิติบัญญัติ ด้านบริหาร สังคมและการศึกษา ในอันที่จะคุ้มครองเด็กให้พ้นจากการใช้ความรุนแรงในรูปแบบทั้งปวงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระทำทารุณกรรม การทอดทิ้งหรือการเลี้ยงดูโดยมิชอบ การปฏิบัติโดยมิชอบหรือการแสวงประโยชน์ รวมถึงการล่วงเกินทางเพศ ขณะอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเด็กนั้นอยู่ในความดูแล”
ขณะที่การเข้าถึงและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เป็นสิทธิตามกฎหมายที่เด็กทุกคนต้องได้รับตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 บัญญัติรับรองไว้ โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 23 บัญญัติให้ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามควร แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ และในกรณีที่ผู้ปกครองตกอยู่ในสภาพไม่อาจให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 28 พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้การสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนในเชิงโครงสร้างและป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเศร้าสลดที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 จึงมีมติเห็นควรให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และหามาตรการแก้ไข โดยจะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงระบบเสนอไปยังรัฐบาล หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลและให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยมาตรฐานการดำรงชีพที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็กตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ระบุ กรณีเศร้าสลดที่เกิดขึ้นนี้จะต้องเป็นบทเรียนให้ผู้ใหญ่ได้หันมาตระหนักถึงสิทธิและคุณค่าของเด็กทุกคน รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพราะการคุ้มครองดูแลของผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กทุกคน ซึ่งจะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของสังคมในวันข้างหน้า” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว