นักไวรัสวิทยาเผยการฉีดวัคซีนโควิดบูสเตอร์โดสในกลุ่มผู้สูงอายุแบบ 'ฉีดเข้ากล้าม-ใต้ผิวหนัง' สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโอไมครอนได้ดี ผลข้างเคียงน้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ผลวิจัยที่ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ร่วมกับ ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี BIOTEC สวทช. พบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้าม กับ ใต้ผิวหนัง ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน แอสตราเซเนกา มา 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอนได้ดีทั้งคู่
โดยกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้าม จะได้ภูมิที่สูงกว่ากลุ่มใต้ผิวหนังประมาณ 3 เท่า ในกรณีที่ฉีดกระตุ้นvoyด้วย โมเดอร์นา และ ประมาณ 1.5 เท่า ในกรณีที่ฉีดกระตุ้นด้วย ไฟเซอร์ โดยตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนจะสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่ใช้ โดย โมเดอร์นา ฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 5 เท่า (100 vs 20 mcg) ขณะที่ ไฟเซอร์ ฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 3 เท่า (30 vs 10 mcg)
สำหรับผลข้างเคียงจากการฉีดใต้ผิวหนังดูเหมือนจะน้อยกว่าตามคาด ซึ่งทีมวิจัยสรุปว่า การฉีดใต้ผิวหนังโดยเฉพาะด้วย โมเดอร์นา อาจเป็นทางเลือกให้พิจารณาในกรณีที่มีวัคซีนจำกัด และต้องการลดผลข้างเคียงจากวัคซีน