กสม.เปิดผลงานครึ่งปีงบประมาณ 65 พบประชาชนร้องเรียนแล้ว 356 เรื่อง 'ละเมิดสิทธิมนุษยชน' มาเป็นอันดับหนึ่ง ปลื้มดันเรื่องแรงงานต่างด้าวจนภาครัฐรับลูก และได้ปรับสถานะองค์กรเป็น 'A' จาก SCA ก่อนอัพเดทสถานการณ์การซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 พ.ค. 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 17/2565 โดยเป็นการแถลงผลการดำเนินงานที่สำคัญรอบครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) โดยสรุปภาพรวม 3 ด้าน ได้ดังนี้
1. ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ในรอบครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งสิ้น 356 เรื่อง โดยเรื่องที่รับไว้ดำเนินการ มีจำนวน 284 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79.77 และเรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา มีจำนวน 72 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.23
เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จึงต้องห้ามไม่ให้ กสม. รับไว้พิจารณา หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น เช่น การร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเภทสิทธิที่ร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 5 ลำดับแรก เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่
(1) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
(2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวเลขการร้องเรียนต่างจากสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพียงเล็กน้อย
(3) สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี
(4) สิทธิชุมชน
(5) สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน
ละเมิดสิทธิ ร้องเรียนมากสุด 161 เรื่อง
สำหรับเรื่องร้องเรียนจำนวน 284 เรื่องที่ กสม. รับไว้ดำเนินการนั้น แบ่งเป็นการดำเนินการดังนี้
(1) การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 161 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 45.22 และในช่วงเวลาเดียวกันสามารถตรวจสอบเรื่องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 108 เรื่อง พร้อมมีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการ
(2) การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 68 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.10 โดยสามารถประสานการคุ้มครองฯ แล้วเสร็จจำนวน 62 เรื่อง เช่น การเร่งรัดการดำเนินคดีให้ผู้ร้องได้รับสิทธิประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ การเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล การแก้ไขปัญหาการประเมินผลการศึกษาตามการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นต้น
(3) การดำเนินการช่วยเหลื่ออื่น ๆ 51 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.32 โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการส่งเรื่องให้สภาทนายให้ความช่วยเหลือทางคดี
(4) การดำเนินการศึกษา วิจัย หรือจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ 4 เรื่อง ได้แก่ (4.1) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (4.2) ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (4.3) ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว และ (4.4) ข้อเสนอแนะกรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....
2. ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
สำนักงาน กสม. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย โดยในครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมความร่วมมือ
เช่น การวางแผนจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มคนเปราะบางร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย, การจัดเสวนาวิชาการร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศ เพื่อระดมความเห็นในการแก้ปัญหาสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 , การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง สิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้า ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม Connect Fest ครั้งที่ 2 ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 50 องค์กร
สำหรับการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สังคม สำนักงาน กสม. ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ผ่านการสื่อสารสาธารณะในหัวข้อ 'รักไม่ละเมิด' ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในชีวิตของเด็กและเยาวชน และ 'จับอย่างระวัง' ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิผู้ต้องหาและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่การสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย ออกมาใช้บังคับได้จริง
3. การเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศทุกมิติอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน กสม. ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่
(1) แรงงานข้ามชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกรณีปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติที่นำไปสู่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว
ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด และวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและกัมพูชาที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนให้เป็นไปในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่แล้ว
(2) สถานะบุคคลและผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา เมื่อเดือนมกราคม 2565 กสม. ได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนองเพื่อติดตามสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่มีความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต่อแนวทางในการช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาและประชาชนไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นางปรีดา คงแป้น และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช) ได้เข้าพบและหารือร่วมกับอธิบดีกรมการปกครองถึงแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในประเทศไทยด้วย
“นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กสม. ไทย ยังได้รับทราบผลการปรับคืนสถานะ A จากการประเมินของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) อันเป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของ กสม. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งความพยายามในการผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่อาจกระทบความเป็นอิสระของ กสม. ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ผลการปรับเลื่อนสถานะของ กสม. ไทยอย่างเป็นทางการแล้ว” เลขาธิการ กสม. กล่าว
4. ติดตามการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนการซ้อมทรมาน – เตรียมจัดทำหลักสูตรอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ความเห็นประกอบการตรวจสอบ
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะเรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เสนอไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อเดือนมีนาคม 2564
โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวระบุให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในทุกขั้นตอนการควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถาม ให้มีการขอความเห็นที่สองทางการแพทย์ (Second Opinion in Medicine) ในขั้นตอนการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวจากแพทย์ที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง เปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเป็นอิสระ และในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ควรให้มีหน่วยงานภายนอกอื่นหรือญาติมีส่วนร่วมในการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วย นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา รองเลขาธิการ กสม. (นายชนินทร์ เกตุปราชญ์) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ได้ประชุมหารือร่วมกับ พล.ร.ต.ดร. วรพล สิทธิจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ณ ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามผลดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้นที่ยังอาจดำเนินการไม่ครบถ้วน
โดยสำนักงาน กสม. ได้รับแจ้งผลการดำเนินงานโดยสรุปว่า ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวมีอาการป่วยหรือไม่สบายในระหว่างการถูกควบคุมตัวสามารถขออนุญาตออกไปรับการรักษากับโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ได้โดยการร้องขอด้วยตนเอง ญาติ หรือศาลมีคำสั่ง เช่นเดียวกับการขอความเห็นที่สองทางการแพทย์ ผู้ถูกควบคุมตัวก็สามารถร้องขอเองได้หรือให้ญาติยื่นคำร้อง ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ดีพบปัญหาว่า แพทย์ผู้ทำการตรวจไม่อนุญาตให้บันทึกภาพการตรวจร่างกาย และมีเพียงผลการตรวจของแพทย์เท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลการตรวจร่างกายเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี
ในส่วนการสืบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัว กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาตรวจสอบหลายชุด ซึ่งบางชุดประกอบไปด้วยบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคงเป็นองค์ประกอบเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว การแสวงหาแนวทางการเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ โดยในเบื้องต้น ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าตรวจดูภาพจากกล้องวงจรปิดในศูนย์ซักถามได้ รวมทั้งเข้าพบบุคคลในระหว่างถูกควบคุมตัวด้วย
โดยหลังจากนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จะนำผลการหารือร่วมกับสำนักงาน กสม. เสนอแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และจะแจ้งผลดำเนินการกลับมายังสำนักงาน กสม. ต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รองเลขาธิการ กสม. และคณะ ได้ประชุมหารือร่วมกับนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ถึงแนวทางการให้ความเห็นที่สองทางการแพทย์ในขั้นตอนการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อประกอบการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทรมาน
โดยได้รับทราบข้อมูลว่า การตรวจร่างกายบุคคลที่ถูกควบคุมตัว มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 นาที การดำเนินการจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบโดยสหสาขาวิชาชีพที่ใช้เวลา 1 – 3 สัปดาห์ การตรวจร่างกายจึงต้องมีลักษณะเป็นการประเมินเบื้องต้นโดยทีมงานย่อย (mini team) ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ 3 คน ได้แก่ แพทย์ พยาบาลจิตเวช และนักจิตวิทยาคลินิก
ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ยินดีให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสม. ในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพการตรวจพิสูจน์และให้ความเห็นทางการแพทย์สำหรับใช้ประกอบการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทรมาน โดยจะเริ่มการอบรมนำร่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีข้อร้องเรียนอันเกี่ยวเนื่องกับการซ้อมทรมานเป็นจำนวนมากก่อน