1 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ พร้อมสั่งจำหน่ายคดี กรณีขอให้ตีความประกาศ-คำสั่ง คสช.คุมสื่อ เหตุถูกยกเลิกแล้ว ไม่มีผลบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวที่ 8/2565 ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาเรื่องพิจารณาที่ 21/2564 กรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ หัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ในคดีหมายเลขดำที่ อ1762/2563 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา 212 ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มาตรา 9 และมาตรา 11 ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ มาตรา 26 ว่าด้วยเรื่องการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 (2) และ มาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันพุธที่ 1 มิ.ย.2565 เวลา 09.30 น.
วันเดียวกันนี้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องที่ 18/2564 กรณีศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ในคดีหมายเลขดำที่ 67/2560 ขอให้วินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 รวมถึงคำสั่ง คสช.ที่ 41/2559 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประกาศ คสช.ที่ 47/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 103/2557 ถูกยกเลิกและไม่มีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ 41/2559 ข้อ 1 กำหนดให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกรายการที่มีเนื้อหาสาระตามคำสั่ง คสช. 97/2557 ข้อ 1-7 อาทิ ข้อความเท็จ ข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. นั้น เมื่อประกาศทั้ง 2 ฉบับข้างต้นถูกยกเลิกไปแล้ว คำสั่ง คสช.41/2559 ย่อมไม่มีผลใช้บังคับไปด้วย ไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคดีต่อไป จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี