‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ส่งหนังสือถึง ‘เลขาธิการคณะรัฐมนตรี’ คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ หลังมีการเพิ่มเงื่อนไขการประกาศ ‘มาตรการ CL’ ที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ‘ครม.’ หวั่นทำให้การประกาศมาตรการ CL ทำได้ยากขึ้น
................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่...) พ.ศ. ....ไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา นั้น
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ โดยเฉพาะในประเด็น ‘การแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing)’ ไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตร โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่า หากมีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรทำได้ยากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะส่งผลกระทบกับประชาชนในการการเข้าถึงยาที่จำเป็นด้วย
สภาองค์กรของผู้บริโภคยังแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ดังกล่าว ดังนี้
1.การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อการนำเข้าและการผลิตภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ที่กำหนดให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) โดยกระทรวง ทบวง กรม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนนั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขและเป็นอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นหรืออาจเป็นไปไม่ได้อีกเลยในอนาคต
2.ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่เท่าทันสถานการณ์และขาดการมองการณ์ไกล และจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีในอนาคต หากเกิดภาวะวิกฤตร้ายแรงด้านสุขภาพขึ้นอีก เช่น การระบาดของโควิด-19
3.การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ขัดกับปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขขององค์การการค้าโลก ที่ได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกเมื่อ 14 พ.ย.2544 ซึ่งประเทศไทยได้เป็นสมาชิก ความในวรรค 4 ของปฏิญญาโดฮามีเจตจำนงที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสุขภาพและการเข้าถึงยาของประชาชนและให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขมากกว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
4.จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขของโลก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในหลายประเทศขาดแคลนยาและวัคซีน รวมไปถึงสิ่งจำเป็นสำหรับการตรวจวินิจฉัย การป้องกัน และการรักษา
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่กำลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร และมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้
1.ตัดข้อความ “โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ออกจากมาตรา 51 และ 51/2
2.เพิ่มข้อความ “ทั้งนี้ การใช้สิทธิตามมาตรานี้ให้รวมถึงคำขอรับสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้วและที่ยังไม่ประกาศโฆษณา” ในมาตรา 51 และ
3.เพิ่มข้อความ “สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของสิ่งประดิษฐ์นั้น” ในมาตรา 51
ทั้งนี้ ตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
อ่านประกอบ :
ห่วงยาจำเป็นแพง!'มูลนิธิเข้าถึงเอดส์'ค้านชง ครม.แก้พ.ร.บ.สิทธิบัตร ขวางรัฐประกาศ CL