ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม กรณีตัดต้นไม้เพื่อขยายและก่อสร้างถนนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้เป็นยกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านรวม 130 คนยื่นฟ้องกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 – 2ขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการขยายหรือปรับปรุงถนนธนะรัชต์ หรือสาย 2090 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกระยะทาง 8.1 กิโลเมตรและให้ฟื้นฟูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดแนวถนนธนะรัชต์ให้กลับมามีสภาพคล้ายเดิมมากที่สุดภายใต้กระบวนการ โดยนำต้นไม้ที่ถูกขุดล้อมออกไปหรือที่มีลักษณะขนาดใกล้เคียงกับต้นไม้เดิมที่ถูกฟันโค่นกลับมาปลูกทดแทนในจุดหรือในพื้นที่เดิมไม่ต่ำกว่า 1หมื่นต้นตลอดแนวถนนทั้ง 2 ด้านของถนนธนะรัชต์
โดยศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่ากรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขุดล้อมบอนต้นไม้ตามข้อเสนอแนะของกรมป่าไม้โดยมีคณะผู้ตรวจสอบที่เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งมีการให้ความเห็นตามอำนาจหน้าที่ไม่ปรากฏเหตุว่ามีส่วนได้เสีย ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบจึงมีความน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักรับฟังว่า ไม่สามารถขุดล้อมบอนต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทได้ ทั้งกรมป่าไม้ไม่ได้โต้แย้งผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีอำนาจได้พิจารณาออกใบอนุญาตให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.)ทำการตัดไม้ เมื่อตัดไม้แล้วได้ลากไปรวมไว้บริเวณกม 16+300.000ทางหลวงหมายเลข 2090 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดประทับตรา คำนวณค่าภาคหลวงก่อนที่จะทำไม้ออก ทั้งต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ทางหลวง 2535 พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ หลังการขยายเขตทาง กรมทางหลวงโดยแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 ม.ค .53 ถึงหัวหน้าศูนย์เพาะชํากล้าไม้นครราชสีมา ขออนุเคราะห์กล้าไม้ 2,000 ต้นเพื่อนำไปปลูกเสริมบริเวณที่ว่างในเขตทางหลวง ซึ่งถึงปัจจุบันนับเป็นจำนวนหลายพันต้นโดยกรมทางหลวงได้เลือกปลูกต้นไม้หวงห้ามหลายประเภทที่ถูกตัดฟันอาทิ สะเดา 42 ต้น ประดู่แดง 92 ต้น หว้า60 ต้น อินทนิล 334 ต้น โดยในการพิจารณาเลือกชนิดประเภทของต้นไม้ที่นำมาปลูกทดแทน กรมทางหลวงได้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเลือกใช้ต้นไม้ที่เป็นกล้าไม้บางส่วนเพื่อให้ต้นไม้กลุ่มนี้มีระบบรากแข็งแรงทนต่อลม และใช้ต้นไม้ที่ขุดล้อมบอนมาจำนวนน้อยเพราะต้นไม้กลุ่มนี้ระบบรากไม่แข็งแรงทำให้ไม่ทนต่อลมแต่ปลูกเพื่อให้ร่มเงาในระหว่างที่กล้าไม้ยังไม่เจริญเติบโต ซึ่งขนาดของต้นไม้ที่กรมทางหลวงได้นำมาปลูกทดแทนมีขนาดกำลังเหมาะสมมีความสูงระหว่าง 1.50 ถึง 2 เมตรลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วเพื่อให้ต้นไม้ที่ได้รับการปลูกตั้งแต่เล็กจะมีระบบรากที่เติบโตเต็มที่ทำให้เกิดความมั่นคงกว่าในระยะยาวโดยปรากฏภาพถ่ายในชั้นอุทธรณ์คำพิพากษาว่าปัจจุบันสภาพของเขตทางทั้งสองด้านมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นทั้งการขุดล้อมต้นไม้เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ไม้เหล่านั้นจะไม่มีรากแก้วไม่มีความมั่นคงล้มง่ายเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทาง และอาจเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งนั้นได้ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ได้เสียทุกด้านประกอบกันจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการฟื้นฟูต้นไม้ในเขตทางเพียงพอแก่พฤติการณ์ความเสียหายจากการดำเนินโครงการพิพาทแล้ว ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและในจำนวนเท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึกเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.52ไปปลูกทดแทนตามแนวเขตทางหลวง 2090 ช่วงกม. 2+000.000ถึงกม.10+100.000โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่พิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย