‘นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ’ เผยต้นทุนเลี้ยงสุกรพุ่ง 98 บาท/กก. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ วอนผู้บริโภคเข้าใจกินหมูแพง ชี้ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดที่ 140-160 บาท/กก. เป็นราคาที่สมเหตุสมผล
...................................
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2563 และยังมาถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ทำให้ราคาธัญพืชอาหารสัตว์ทุกชนิดและราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศร้อนแล้งและอากาศแปรปรวน ซึ่งส่งผลให้อัตราเสียหายของสุกรเพิ่มขึ้น สุกรโตช้า และจำนวนสุกรจับออกน้อยลง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก
โดยล่าสุดต้นทุนการเลี้ยงสุกรอยู่ที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 94-98 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระขาดทุน แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค ผู้เลี้ยงสุกรจึงประคับประคองการเลี้ยงสุกรต่อไป ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงสุกรเห็นว่าราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดที่อยู่ที่ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม นั้น เป็นราคาที่สมเหตุสมผล และอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ
“ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดสดที่ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้ขายหน้าเขียง และผู้บริโภค จึงอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ ซึ่งปัจจุบันการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยที่ 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือราว 1 กิโลกรัมกว่าๆต่อเดือน ดังนั้น ราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่บาท แต่ช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้มีแรงทำอาชีพนี้ต่อ ไม่ต้องเลิกเลี้ยงไปจนหมด” นายสุนทราภรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มทางเลือกและลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภูมิภาคต่างๆ ได้ร่วมมือกับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 154-155 บาทต่อกิโลกรัม
นายสุนทราภรณ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกร และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะการซื้อข้าวโพดในประเทศ รวมทั้งช่วยกันประคับประคองไม่ให้ราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเกินกิโลกรัมละ 100 บาท มาโดยตลอด แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์จะแพงขึ้นทั่วโลก ขณะที่ราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ขณะนี้ราคาขึ้นไปเกินกิโลกรัมละ 100 บาทแล้ว
นายสุนทราภรณ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดการระบาดของโรคในสุกร ทำให้ผลผลิตสุกรลดลงมาก และการเลี้ยงรอบใหม่ต้องใช้เวลา 6-12 เดือน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังคงมีกลุ่มผู้เลี้ยงหลากหลายกลุ่ม ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้ปรับตัวกับสถานการณ์ โดยการเลี้ยงสุกรใหญ่ขึ้น จากปกติสุกรขุนจับออกจำหน่ายที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เป็น 110-120 กิโลกรัม ทำให้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องจับออก ไม่มีการกักหมูไว้เพื่อเก็งกำไรแน่นอน เพราะนั่นคือต้นทุนการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้น