‘วิษณุ’ เห็นใจ ‘ปารีณา’ โดนโทษแรงมาตรฐานจริยธรรม เตือน ส.ส. - ส.ว. - ครม. ระวัง ชี้หากอยากเลิกต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โทษการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงของนักการเมืองที่มีการมองว่ารุนแรงเกินไป หลัง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต เปรียบเหมือนการประหารชีวิตทางการเมือง ว่า ไม่วิจารณ์ แล้วแต่จะพูดจะเรียกกันไป แล้วแต่จะอุปมาเปรียบเทียบกันไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางที่จะบรรเทาหรือแก้ไขในเรื่องนี้ยังพอมีอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ประพฤติให้ดี อย่าให้เป็นการล่วงเกินจริยธรรม แต่ก็เห็นใจ น.ส.ปารีณา เพราะเป็นกรณีแรก ส่วนคนที่มาทีหลังอาจได้ประโยชน์คือ เรียนรู้และเห็นตัวอย่าง
เมื่อถามว่า เจตนาเรื่องการนำจริยธรรมมาใช้จะเป็นการควบคุมนักการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญบอกว่าให้องค์กรอิสระประชุมและตกลงกันทำมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วให้ทำความเห็นส่งไปถาม ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเมื่อประกาศใช้ จะมีผลกับ ส.ส., ส.ว., ครม. และองค์กรอิสระทั้งหลายด้วย แต่ไม่ได้ใช้กับข้าราชการอื่น เพราะให้ไปจัดทำประมวลจริยธรรมของตัวเอง ซึ่งกรณีนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้มีการไปขอความเห็นกันแล้ว มีการติชม ครม.ก็ได้ติไปเยอะเขาก็ยอมแก้ไขให้ เมื่อทำเสร็จก็ประกาศใช้ ซึ่งน.ส.ปารีณาก็โดนความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมนี้ ซึ่งเป็นคนละมาตรฐานกับที่ใช้กับข้าราชการ โดยตนเองเป็นประธานกรรมการมาตรฐานจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม ดูแลเรื่องจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐธรรมดาที่มีซีต่ำ ส่วน ส.ส.ถือเป็นวีไอพี ใช้มาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ขณะนี้มี ส.ส. หลายคนในฝ่ายรัฐบาลถูกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ
เมื่อถามว่า ถ้าในอนาคต ส.ส.รู้สึกว่ามาตราดังกล่าวมีผลกระทบแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญสามารถเลิกอะไรได้หมดอยู่แล้ว
นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมไม่ได้บอกว่าจะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 10 ปี เพียงแต่กำหนดว่าต้องมีมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดไว้ แต่ศาลไปหยิบว่าเมื่อมีมาตรฐานแบบนี้ก็มีเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส. ที่เขียนว่า ต้องเป็นผู้ที่ไม่บกพร่องในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม จึงไปกระทบกับเรื่องคุณสมบัติ แล้วทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นคนเอามาใช้ จึงเห็นได้ว่าตอนที่ศาลตัดสิน ได้อ้างสารพัด ทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญมาประกอบกัน เพื่อนำไปสู่การลงโทษ ถือว่าเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดขึ้น และเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้น ทุกคนต้องระมัดระวังไว้แล้วกัน