กสม. ชี้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ที่เกี่ยวกับการควบคุมสื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนเสนอให้ยกเลิก เน้นชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องแทน- เผยผลสำรวจประเด็นสิทธิมนุษยชน พบคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่หนุน Sex worker ถูกกฎหมาย การสมรสเท่าเทียม ขณะที่เสียงก้ำกึ่งประเด็นโทษประหาร
วันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม. ชี้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 จำกัดเสรีภาพการเสนอข่าวสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เกินสมควรแก่เหตุ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ขอให้ตรวจสอบกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 11 และ ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) และการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมทั้งเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน ได้รับความคุ้มครองและรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และ 35 สอดคล้องกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และแม้เสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
แต่การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน กล่าวคือ มาตรการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องเป็นมาตรการที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ ทั้งจะต้องมีความสมเหตุสมผลกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และหลักความได้สัดส่วนจะต้องปรากฏในกฎหมายและได้รับการบังคับใช้จากทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการแสดงออกที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ (public debate) นักการเมืองและผู้นำสังคม
กสม. เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีข้อความของบทบัญญัติที่กว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และสามารถตีความไปได้หลายแบบตามความมุ่งหมายของผู้ใช้กฎหมาย โดยอาจมีการตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริงแต่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวก็ถือว่ามีความผิดได้ โดยที่มิได้พิจารณาว่าข่าวนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หรือเป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ นอกจากนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายยังอาจตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริงแต่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็อาจเป็นความผิดได้ ลักษณะนี้จึงถือเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหมายจะแก้ไขและยับยั้งเหตุฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เปรียบเทียบกับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 แล้วเห็นได้ว่า มีข้อความเหมือนกัน ซึ่งภายหลังการบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ได้ไม่นาน บริษัท รีพอตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด กับพวกรวม 12 คน ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าวพร้อมกับยื่นคำร้องขอไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน โดยศาลแพ่งมีความเห็นในตอนหนึ่งว่า “ข้อกำหนดที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนด ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชน ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามที่รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา 35 วรรคหนึ่ง คุ้มครองไว้” และศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ห้ามนายกรัฐมนตรีในฐานะจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ยกเลิกข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 กสม. จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบในประเด็นของข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 นี้ อย่างไรก็ดี คำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า
การบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1
ย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ร้องทั้งหกและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น แม้ผู้ถูกร้องโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จะไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐานตามที่ กสม. ได้ร้องขอ ซึ่งเป็นขั้นตอนการให้โอกาสในการชี้แจงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วย กสม. แต่พยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นตรวจสอบก็เพียงพอที่ กสม. จะพิจารณาและมีความเห็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการใช้บังคับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 และแม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้บังคับข้อกำหนด ฯ ดังกล่าว แต่จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาในชั้นต้น ย่อมเห็นได้ว่าข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 กระทบต่อเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ดังนี้
(1) พิจารณายกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เฉพาะส่วนในข้อ 11
(2) ในระหว่างที่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ยังมีผลใช้บังคับ ให้ ศบค. ใช้วิธีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้พิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นเหมาะสมภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น
2. สำนักงาน กสม. เผยผลสำรวจประเด็นถกเถียงด้านสิทธิมนุษยชน พบคนรุ่นใหม่หนุนทำแท้งเสรี Sex worker ถูกกฎหมาย และสมรสเท่าเทียม ส่วนประเด็นโทษประหารเสียงก้ำกึ่ง
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้จัดนิทรรศการ
“มองให้ชัด ยืนหยัดเพื่อสิทธิทุกคน” ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้น Tik Tok ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เมื่อวันที่ 1 -13 มีนาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การจัดกิจกรรมดังกล่าว มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม 5 หัวข้อ โดยมีผู้ลงความคิดเห็น (โหวต) ทั้งสิ้น 45,284 โหวต รายละเอียดดังนี้
(1) ผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้ง มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,238 โหวต คิดเป็นร้อยละ 97.53 และ
ไม่เห็นด้วย 183 โหวต คิดเป็นร้อยละ 2.47
(2) เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ไม่มีวุฒิภาวะพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ มีผู้โหวตเห็นด้วย 2,313 โหวต คิดเป็นร้อยละ 24.20 และไม่เห็นด้วย 7,246 โหวต คิดเป็นร้อยละ 75.80
(3) Sex Worker ควรเป็นอาชีพถูกกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,266 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48 และไม่เห็นด้วย 112 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52
(4) ชายและหญิงเท่านั้นที่สมรสได้ตามกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 143 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52 และไม่เห็นด้วย 9,264 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48
(5) การประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรม มีผู้โหวตเห็นด้วย 6,307 โหวต คิดเป็นร้อยละ 54.75 และไม่เห็นด้วย 5,212 โหวต คิดเป็นร้อยละ 45.25
จากกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมทั้ง 5 ข้อ สรุปได้ว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตซึ่งโดยมากเป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้การทำแท้งที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 และ 20 สัปดาห์ สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และในอีกประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าอาชีพพนักงานบริการทางเพศ หรือ sex worker ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย
ขณะที่ประเด็นสิทธิเด็ก ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่ เห็นว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในเรื่องต่าง ๆ อันสอดคล้องและไปเป็นตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี สำหรับประเด็นการสมรสเท่าเทียมของคนทุกเพศได้รับเสียงโหวตเห็นด้วยเกือบทั้งหมด ส่วนผลโหวตประเด็นโทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมหรือไม่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า
มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ประมาณร้อยละ 55 ต่อร้อยละ 45
“การสำรวจความคิดเห็นจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเพื่อวัดการรับรู้และมุมมองของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ยังเป็นข้อถกเถียง ซึ่งแม้จะไม่ได้สะท้อนความเห็นที่แท้จริงของคนในสังคมทั้งหมด แต่ในทุกประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่ กสม.ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ กสม. โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มุมมอง และความเชื่อ ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป” รองเลขาธิการ กสม. กล่าว