กรมควบคุมโรค แจงกรณียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจ ATK ยืนยีนความโปร่งใส-ไม่มีการปกปิดข้อมูล เผยเหตุข้อมูลไม่ตรงเพราะตัดยอดคนละเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา แถลงกรณีข้อสงสัยการคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจากการตรวจ ATK เนื่องจากยอดในระบบ Dashboard และตัวเลขรายงานจังหวัดไม่ตรงกัน นั้น กรมควบควบคุมโรค ขอชี้แจงว่า การดำเนินงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความโปร่งใสตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด แต่เนื่องจากการรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 อัพเดทรายวัน ที่ปรากฏบนระบบ Dashboard ในเว็บไชต์กรมควบคุมโรค โดยข้อมูลการตรวจ ATK เป็นการใช้ข้อมูลจากระบบ Co-Lab ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากห้องปฏิบัติการทั่วประเทศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอรายวันจากกรมควบคุมโรค อาจมีการตัดยอดในเวลาที่แตกต่างกันกับพื้นที่ จึงทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกัน
นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นไปที่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และจำนวนผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการรักษาในโรงพยาบาล เพราะถ้าผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จะสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก็จะเข้าระบการรักษา OPSI (Outpatient with Self Isolation) หรือเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน HI (Home Isolation) ถ้ามีอาการหนักจึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเชื้อโอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว และไม่มีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเมื่อลูกหลานกลับไปเยี่ยมในช่วงสงกรานต์ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวหากติดเชื้อจะมีอัตรา การเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 สูง หากได้รับวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยลดการป่วยหนัก และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 41 เท่า เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคคือการเคร่งครัดมาตรการ VUCA (การได้รับ Vaccine, การป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล Universal Prevention, มาตรการปลอดภัยในองค์กร Covid Free setting, และตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ)” นพ.จักรรัฐ กล่าว