กทม.สรุปภาพรวมวันแรก มีผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ รวม 20 ราย ส.ก. อีก 343 ราย ด้าน กกต. ย้ำต้องยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายหลังวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น กทม. แถลงผลการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม.ว่า ในวันนี้มีการรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. รวม 20 ราย แบ่งเป็นชาย 14 ราย และผู้หญิง 6 ราย ได้แก่
-
หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
-
หมายเลข 2 พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
-
หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล
-
หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
-
หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา
-
หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
-
หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล
-
หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
-
หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี
-
หมายเลข 10 ดร.ศุภชัย ตินติคมน์
-
หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี
-
หมายเลข 12 ดร.ประยูร ครองยศ
-
หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์
-
หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา
-
หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
-
หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
-
หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ
-
หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์
-
หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค
-
หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ
โดยผู้สมัครมีอายุมากที่สุด 72 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี
ส่วนผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขตในวันนี้มีทั้งหมด 343 ราย โดยเขตจอมทอง ธนบุรี และวังทองหลาง มีผู้สมัครมากที่สุดเขตละ 9 คน ส่วนเขตดุสิตและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีผู้สมัครน้อยที่สุดเขตละ 5 คน
นายขจิต กล่าวว่า หลังจากปิดรับสมัครในวันที่ 4 เม.ย. 2565 เป็นวันสุดท้าย จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับสมัครภายใน 7 วัน จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร
นอกจากนี้ ผู้สมัครต้องยื่นรายการค่าใช้จ่ายทั้งรายชื่อผู้ที่อยู่ทีมหาเสียงยานพาหนะ สถานที่ หรือเวทีหาเสียง หรือสถานที่อื่นให้มาแจ้งต่อ กกต.กทม. ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. - 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง และเมื่อพ้นจากวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ ใช้จ่ายเงินหาเสียง ไม่เกิน 49 ล้านบาท ส่วนผู้สมัคร ส.ก. ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และประชากร ดังนี้
เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตปทุมวัน และเขตพระนคร ผู้สมัคร ส.ก.ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ820,000 บาท
เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตคลองสาน เขตบางกอกใหญ่ เขตห้วยขวาง เขตวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตคลองเตย เขตยานนาวา และเขตสาทร ผู้สมัคร ส.ก.ใช้จ่ายได้ไม่เกินเขตเลือกตั้งละ 900,000 บาท
เขตบางพลัด เขตสะพานสูง เขตทวีวัฒนา เขตบางบอน เขตคันนายาว เขตวังทองหลาง เขตบางคอแหลม เขตบางกอกน้อย เขตมีนบุรีเขตพระโขนง เขตหลักสี่ เขตดินแดง เขตบางนา เขตลาดพร้าว เขตตลิ่งชัน เขตดุสิต เขตธนบุรี และเขตสวนหลวง ผู้สมัคร ส.ก.ใช้จ่ายได้ไม่เกินเขตเลือกตั้งละ 1,000,000 บาท
เขตภาษีเจริญ เขตบางซื่อ เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตหนองแขม เขตหนองจอก เขตจตุจักร และเขตจอมทอง ผู้สมัคร ส.ก.ใช้จ่ายได้ไม่เกินเขตเลือกตั้งละ 1,050,000 บาท
เขตบางขุนเทียน เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง เขตดอนเมือง เขตประเวศ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตบางแค ผู้สมัครส.ก.ใช้จ่ายได้ไม่เกินเขตเลือกตั้งละ 1,150,000 บาท
ด้าน นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เงินที่ใช้หาเสียงเป็นเงินของผู้สมัคร ไม่ใช่การขอรับจาก กกต. และผู้สมัครทุกคนต้องยื่นบัญชีหลังพ้นจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครทุกคนต้องนำบัญชีรายรับ-รายจ่ายมายื่นกับ กกต.กทม. ภายใน 90 วัน หากไม่ยื่นจะมีผลทางกฎหมายถึงขั้นเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี ถ้าเจตนาทุจริตเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี กรณีเป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดก็จะไม่ได้รับตำแหน่งในการเลือกตั้งเพราะถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง