‘สคฝ.’ เผย ณ สิ้นปี 64 มียอดเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองฯ 15.59 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 4.39% ระบุมี 'ผู้ฝากเงิน' ที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน 85.83 ล้านราย หรือคิดเป็น 98%
..................................
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดเผยว่า การเติบโตของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 15.592 ล้านล้านบาท เติบโต 4.39% เทียบกับปี 2563 ที่อัตราการขยายตัวของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 10.12% ซึ่งมีสาเหตุจากความวิตกกังวลที่มีต่อสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดของโควิด-19
“ในปี 2564 ทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากมีการเพิ่มขึ้นทั้งสองส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนกว่า 98% หรือมีจำนวน 85.83 ล้านราย ครอบคลุมสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 34 แห่ง” นายทรงพล กล่าว
นายทรงพล ยังระบุว่า การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ ขณะที่ DPA ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะให้บริการประชาชนโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชี
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเป็น Omni Channel เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อซักถาม ช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
นายทรงพล กล่าวว่า ขณะนี้ DPA ได้มีการจัดเตรียมระบบงานให้มีพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ประกอบด้วย
“ระบบ” พร้อม ด้วยการวางโครงข่ายระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีการจำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) กระบวนการจ่ายคืน รูปแบบการสื่อสารกับผู้ฝาก รวมถึงการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดในวันที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต
“คน” พร้อม ผ่านการซักซ้อมอยู่เสมอเพื่อให้ระบบพร้อมใช้งาน และคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ก้าวไปให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินและเศรษฐกิจ เสริมทักษะ ความรู้ผ่านโปรแกรมแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองเงินฝาก อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมบังคับคดี เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ มาพัฒนากระบวนการทำงานให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้ดียิ่งขึ้น
“กองทุนคุ้มครอง” พร้อม เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเงินที่นำมาใช้คุ้มครองผู้ฝาก ซึ่ง DPA เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองเพื่อสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก “ประชาชน” พร้อม เป็นการเตรียมประชาชนให้พร้อมรับการคุ้มครองอย่างเข้าใจและเชื่อมั่น ประชาชนผู้ฝากทุกคนเองก็เตรียมความพร้อมได้ โดยการอัพเดทข้อมูลของตัวผู้ฝากเอง ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
และ ‘พร้อมเข้าถึง’ ซึ่งนอกจากช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิตยุคใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมแต่ละ Generation ผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว DPA ยังมีข้อมูลความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ข้อมูลอัพเดทสถาบันการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความรู้ด้านการเงินอื่นๆ พร้อมให้ผู้ฝากทุกคน เข้าถึงได้อย่างสะดวก
“DPA พร้อมเคียงข้างประชาชนในทุกจังหวะชีวิต เพราะโจทย์ทางการเงินในช่วงชีวิตของแต่ละคนอาจเปลี่ยนไป และปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว DPA จึงพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในโลกการเงินมีการศึกษาข้อมูล ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ รวมถึงการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อเคียงข้างประชาชนผู้ฝากเงิน” นายทรงพล กล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสอบถามข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก สามารถติดต่อ DPA ได้หลายช่องทาง ได้แก่ แฟนเพจ Facebook: Line: Twitter: dpathailand Website: www.dpa.or.th และ Contact Center 1158