ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สธ. เรื่องปรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับที่ 8 มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 8) ระบุว่า
โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับอัตราค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายให้มีความเหมาะสม และครบถ้วน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และมาตรา 36 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 8)”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเป็นไปตามแนบท้ายประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565 ลงนามโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 4 สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระดับกลุ่มอาการของผู้ป่วยในช่วงเวลานับแต่รับผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
กรณีสถานพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่นตามข้อ 3 (1) หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นตามข้อ 3 (3) ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVD-19)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) ถึง (ฉบับที่ 7) และให้ใช้บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้แทน
ข้อ 3 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ข้อ 4 ให้สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยก่อนวันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ใช้บังคับ ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVD-19)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID- 19)) (ฉบับที่ 2) ถึง (ฉบับที่ 7)
ให้สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยนับแต่วันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้มีผลใช้บังคับ ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
ข้อ 5 การใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVD-19)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) ถึง (ฉบับที่ 7) ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้และให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
พร้อมกันนี้ มีการระบุหมายเหตุ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
-
รายการที่ไม่ปรากฏในรายการข้างต้น อนุโลมให้ใช้ราคาเบิกจ่ายโครงการ UCEP
-
ยา Favipiravir เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข
-
ค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยให้เป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
-
ยา Remdesivir 100 mg inj. ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข
-
กรณีผู้ป่วยระดับกลุ่มอาการสีเขียว ให้เบิกเฉพาะรายการ “ค่าบริการเหมาจ่ายสำหรับการดูแลการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยสีเขียว กรณี Home Isolation, Community Isolation, Hotel Isolation, Hospitel, โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม (ค่ายาพื้นฐาน ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ค่าติดตามอาการ ค่าให้คำปรึกษาของแพทย์ ค่า PPE ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าอาหาร 3 มื้อ รวมถึงค่าที่พักกรณี Hotel Isolation, Hospitel, โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม)”
กลุ่มอาการผู้ป่วยสีเขียว
-
กรณีรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน ราคาเหมาจ่าย 6,000 บาท
-
กรณีรักษาตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ราคาเหมาจ่าย 12,000 บาท
ส่วนค่าห้องและค่าอาหาร 3 มื้อ สำหรับผู้ป่วยระดับ 1-3 มีดังนี้
-
ผู้ป่วยระดับ 1 อยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน
-
ผู้ป่วยระดับ 2.1 อยู่ที่ 1,500 บาทต่อวัน
-
ผู้ป่วยระดับ 2.2 อยู่ที่ 3,000 บาทต่อวัน
-
ผู้ป่วยระดับ 3 อยู่ที่ 7,500 บาทต่อวัน