ครม.อนุมัติขยายเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ฯ ‘รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล’ ออกไปจนถึงปี 2572 หลังรายได้ของ ‘รฟม.’ ยังไม่ครอบคลุมรายได้-มีภาระลงทุนรถไฟฟ้าสายอื่น
..............................
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2559 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2572
พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (โครงการฯ) สายเฉลิมรัชมงคล ต่อไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนถึงปีงบประมาณ 2572 ทั้งนี้ หากประมาณการรายได้แตกต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งกรณีสูงและต่ำกว่าประมาณการ กระทวงคมนาคม จะพิจารณานำเสนอการรับภาระหนี้ของรัฐบาลให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นรายปี จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2572
น.ส.ไตรศุลี ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2538 ครม.มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้างและค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (โครงการฯ) สายเฉลิมรัชมงคล ในระยะเวลา 10 ปีแรก และหลังจากโครงการแล้วเสร็จเปิดใช้บริการ หากปรากฏว่า ฐานะทางการเงินของโครงการดังกล่าวดีขึ้น เห็นควรให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับภาระทยอยจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รฟม. ได้มีการขออนุมัติขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวออกไปแล้ว 4 ครั้ง และให้รัฐบาลรับภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้
โดยล่าสุดในครั้งนี้ รฟม. ได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาให้รัฐบาลรับภาระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ต่อตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนถึงปีงบประมาณ 2572 เนื่องจากตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 นั้น จากการประมาณการรายได้ที่ รฟม. ได้รับจากสัญญาสัมปทานเดินรถโครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคลจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)
และรายได้ที่ รฟม. ดำเนินการเองในส่วนของการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในธุรกิจเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้า ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ รฟม. และการชำระคืนภาระหนี้ที่ รฟม. ได้กู้มาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งมีการทยอยจ่ายคืนชำระหนี้เป็นรายปี ประกอบกับ รฟม. ต้องนำรายได้ของโครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคลไปใช้จ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่ รฟม. รับผิดชอบด้วย
สำหรับภาระหนี้คงค้างของรฟม. ณ วันที่ 31 มี.ค.2564 พบว่า มีหนี้คงค้างรวม 177,801 ล้านบาท เป็นหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ 30,357 ล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศ 147,443 ล้านบาท โดยโครงการฯสายเฉลิมรัชมงคล มีภาระหนี้คงค้างเงินกู้ภายในประเทศจำนวน 1,550 ล้านบาท และเงินกู้ต่างประเทศ(JICA) จำนวน 29,627 ล้านบาท รวม 31,177 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ประมาณการภาระหนี้ของโครงการฯ สายเฉลิมรัชมงคลตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้พบว่าตั้งแต่ปี 2564-2572 จะต้องชำระเงินต้นจำนวน 15,802 ล้านบาท และดอกเบี้ย 8,074 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 23,876 ล้านบาท และช่วงปี 2573-2583มีภาระหนี้ชำระเงินต้นจำนวน 15,967 ล้านบาท และดอกเบี้ยจำนวน 3,232 ล้านบาท รวม 19,200 ล้านบาท
ขณะที่ประมาณการรายได้และรายจ่ายรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในช่วงสัญญาสัมปทานโครงการฯสายเฉลิมรัชมงคล ปี 2564-2572 พบว่า จะมีรายได้รวม 47,391 ล้านบาท และรายจ่าย 119,481 ล้านบาท มีรายจ่ายเกินรายได้จำนวน 72,089 ล้านบาท