‘ธปท.’ เผยผลสำรวจดัชนี HSI เดือน ก.พ. พบ 'อัตราการเข้าพัก' เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33.6% หลังรัฐมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-กลับมาใช้ ‘Test & Go’ ขณะที่โรงแรมเกือบครึ่งมี ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ น้อยกว่า 10%
..................................
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (HSI) เดือน ก.พ.2565 โดยพบว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 33.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 32.0% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ และการกลับมาเปิดลงทะเบียน Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 แต่มีโรงแรมเพียง 47 แห่ง จากโรงแรมที่สำรวจ 127 แห่ง หรือคิดเป็น 37% ที่ระบุว่า มีอัตราการเข้าพักสูงกว่าจุดคุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีสัดส่วนต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 มาก ส่วนหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron และการเดินทางเข้าพักมีต้นทุนสูง เช่น การตรวจ RT-PCR แม้ภาพรวมประเมินว่าผลกระทบจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกสายพันธุ์ Delta
“แม้จะมีการกลับมาใช้ Test & Go โรงแรมเกือบครึ่งหนึ่งยังมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติน้อยกว่า 10% และมีโรงแรมเพียง 20% ที่รับลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ของลูกค้าทั้งหมด โดยอุปสรรคต่อการตัดสินใจจองห้องพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับแรก ค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR คิดเป็น 51% ,อันดับสอง กระบวนการขอ Thailand Pass คิดเป็น 34% และอันดับสาม ไม่มีเส้นทาง/สายการบินมาไทย คิดเป็น 4%” ผลสำรวจฯ ระบุ
ผลสำรวจของ ธปท. ยังพบว่า ในเดือน มี.ค.2565 ผู้ประกอบการที่พักที่ตอบแบบสำรวจ คาดว่าอัตราการเข้าพักจะลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 29.7%
ผลสำรวจฯ ระบุด้วยว่า ผู้ประกอบการโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ย 60% ของช่วงก่อนเกิด COVID-19 ลดลงจากเดือนก่อนที่ผู้ประกอบการโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ย 64% ของช่วงก่อนโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการฯ 43% ระบุว่า มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะ และส่วนใหญ่มีการจ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มในอัตราค่าจ้างเท่าเดิมเพื่อบรรเทาปัญหา
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่พักแรมต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ การสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) ,การมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ ขยายเวลาเราเที่ยวด้วยกัน ส่งเสริมจัดงานประชุม ,ลดค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ,พักชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ,การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เช่น ค่า ATK ,ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ,สร้างความเชื่อมั่นและลดข้อจำกัดในการเปิดประเทศ เช่น ลดขั้นตอน Thailand Pass และจัดอบรมการใช้ระบบอัตโนมัติบริการลูกค้า