กทม.เปิดศูนย์พักคอยอีก 9 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด 970 เตียง เพิ่มสายด่วนอีก 70 คู่สาย ตั้งเป้าส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน 1 วัน พร้อมปรับปรุงศักยภาพการรับส่ง ให้ส่งต่อผู้ป่วยได้วันละ 300 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานครตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อทวีวัฒนา (Community Isolation : CI) โดยมีคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักงานเขตทวีวัฒนา โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ ณ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา
นายขจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด สายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด และดูแลสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ตรวจ ATK และ RT-PCR แล้วแสดงผลว่าติดเชื้อโควิด ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต รวมทั้งสิ้น 31 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,981 เตียง อัตราการครองเตียงขณะนี้ 1,932 เตียง เตียงว่าง 1,849 เตียง โดยมีการคัดกรองอาการและดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลตามการประเมินจากแพทย์
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง เตียง 970 เตียง ด้านโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,460 เตียง อัตราการครองเตียง 3,116 เตียง เตียงว่าง 377 เตียง คิดเป็น 90.06% (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ.65 เวลา 08.00 น.)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อ หากประสงค์ทำการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (HI) สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน สปสช.1330 กด14 หรือประสานรับการรักษาผ่านศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต (EOC) 50 เขต โดยศูนย์ฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับคลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานพยาบาล มีเป้าหมายการเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อกับผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง และสามารถแยกกักตัวได้ จะเข้าสู่การแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ จะนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) หรือส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการต่อไป
นอกจากนี้ ศูนย์เอราวัณ (1669) สำนักการแพทย์ ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้เพิ่มจำนวนคู่สายด่วนจากเดิม 30 คู่สาย เป็น 100 คู่สาย พร้อมเจ้าหน้าที่บริการรับสายตลอด 24 ชั่วโมง โดยยังคงมีเป้าหมายนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาภายใน 1 วันโดยไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง นอกจากนี้ได้ปรับปรุงศักยภาพการรับส่งผู้ป่วย โดยร่วมกับเครือข่าย อาทิ เทศกิจ 50 เขต เจ้าหน้าที่ทหาร อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ทำให้รับส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมสามารถรับผู้ป่วยได้วันละ 150 คน เพิ่มเป็นวันละ 300 คน โดยรถ 1 คัน จะรับผู้ป่วยวันละ 2 รอบๆ ละ 3 คน
สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อทวีวัฒนา จัดตั้งเพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 114 เตียง แบ่งเป็นชาย 52 เตียง หญิง 52 เตียง และสำหรับครอบครัว 2 ห้อง 10 เตียง โดยมีโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย ดำเนินงานตามมาตรการความปลอดภัยในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด มีจุดลงทะเบียน จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดวัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจน จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียงจัดวางที่นอน ติดตั้งระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม ระบบเสียงตามสาย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเตอร์เน็ต ติดตั้งพัดลม ฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย เช่น ชุดเครื่องนอน มุ้ง ผ้าเช็ดตัว ครีมอาบน้ำ ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย