ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้ ‘ชาวสวนปาล์ม’ ปี 64/65 กรอบวงเงิน 7.6 พันล้านบาท พร้อมอนุมัติ 630 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ย หนุน ‘ผู้ประกอบกิจการยาง’ ซื้อยางแห้งเก็บสต๊อก 3.5 แสนตัน
..............................
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564/65 วงเงิน 7,660 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 3.8 แสนราย
สำหรับหลักเกณฑ์โครงการประกันรายรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันฯจะเหมือนกับปีที่แล้ว คือ กำหนดราคาประกันของปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) กิโลกรัมละ 4 บาท ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรและต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มอายุ 3 ปีขึ้นไปที่ให้ผลผลิตแล้ว ส่วนระยะเวลาการจ่ายเงินประกันรายได้จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-ส.ค.2565
น.ส.รัชดา ระบุว่า สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2563/64 ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตลอดทั้งโครงการ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในการบริโภคและพลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปาล์มทะลายมีราคาเฉลี่ยทั้งปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 6.9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ 4 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดทั้งปี
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 603.50 ล้านบาท และให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำหน้าที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบกิจการยางสามารถซื้อผลผลิตยางแห้งได้ไม่น้อยกว่า 350,000 ตัน ซึ่งคิดจากราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยในปี 2564 ที่มีราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อผลผลิตยางแห้งจากเกษตรกรชาวสวนยางในอัตรา 3% ต่อปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.2564-ธ.ค.2565
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ได้ เช่น การขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ การซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่เก็บสต็อกยาง เป็นต้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อไม้ยางและผลิตภัณฑ์มาเก็บสต็อกและแปรรูปเท่านั้น
สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข มีดังนี้
1.แหล่งสินเชื่อ ผู้ประกอบการจะต้องมีสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและหรือ “สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์” กับสถาบันการเงินตามรายชื่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน (เฉพาะกิจ) ที่สนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ “สินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน” เท่านั้น
2.รัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3% ต่อปี จำนวนไม่เกิน 600 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท โดยเพิ่มเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ คือ ชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง และหรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิมหรือที่ตั้งใหม่ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ จากเดิมที่ไม่กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว