SPRC เสนอแผนจัดการ ‘น้ำมันดิบ’ ค้างท่อ 1.2 หมื่นลิตร ก่อนปิดรอยรั่วบริเวณ SPM ให้ที่ประชุมร่วม ‘กรมเจ้าท่า-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ ไฟเขียว ก่อนเปิดปฏิบัติการวันที่ 21 ก.พ.นี้
...............................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ที่ได้ดำเนินการขยับท่อ เพื่อตรวจสอบท่อบริเวณจุดรั่วทุ่นผูกจอดเรือ SPM (single point mooring) ทำให้เกิดเหตุน้ำมันดิบที่ค้างท่อเดิมไหลออกสู่ทะเลเพิ่มเติม ซึ่งจากการประมาณการ มีปริมาณน้ำมัน 5000 ลิตร และต่อมา SPRC ได้ดำเนินการเข้าล้อมบูมและดำเนินการเร่งจัดเก็บคราบน้ำมันดังกล่าวฯ เรียบร้อยแล้ว นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Zoom ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ SPRC ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ SPRC ได้นำเสนอแผนการนำน้ำมันที่คาดว่าคงเหลืออยู่อีก 12,000 ลิตร ออกจากท่อที่เสียหายและพันปิดรอยรั่ว ซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว 2.การดูดน้ำมันที่คงค้างออกจากท่อ 3.การพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ
ทั้งนี้ การปฏิบัติการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ และดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ รวมทั้งจากบริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังพิจารณาแผนการเตรียมการเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯจากปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน จำนวน 5 เส้น ความยาวเส้นละ 200 เมตร บริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เรือลากจูงจำนวน 10 ลำในการลากจูงทุ่นกักน้ำมัน กลุ่มที่ 2 ติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันบนเรือลากจูง
กลุ่มที่ 3 ติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือ ศรีราชา ออฟชอร์ 881 ซึ่งสามารถเก็บน้ำมันได้ถึง 1 แสนลิตร/ชั่วโมง และเตรียมเรือสำหรับรับน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากท่อในทะเล ติดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั้มสำหรับดูดน้ำมันออกจากเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล และประสานกองทัพเรือเตรียมเรือหลวงหนองสาหร่าย สำหรับเฝ้าระวังและบันทึกภาพงานใต้น้ำ พร้อมนักประดาอีก 24 นาย
นายภูริพัฒน์ ระบุว่า ได้เน้นย้ำให้ SPRC ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม และให้จัดส่งเอกสารเสนอแผนการดำเนินงานทั้งหมดอีกครั้งถึงสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองก่อน 10 โมงเช้าของวันที่ 21 ก.พ.2565 เพื่อดำเนินการอนุมัติแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนต่างๆ ต่อไป พร้อมย้ำผู้ประกอบการให้มีการฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการทำงานเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต
นายภูริพัฒน์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์น้ำมันดิบของ SPRC รั่วไหลลงทะเล ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างร้ายแรง โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแก้ปัญหาและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันดิบรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมเจ้าท่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ตามมาตรา 119 ทวิ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใดๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 การฝ่าฝืนเงื่อนใขการประกอบกิจการท่าเรือ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีได้ โดยกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุดสองหมื่นบาท และมีโทษปรับรายวันอีกด้วย
สำหรับการฟื้นฟู ชดเชย และเยียวยา นั้น คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) จะรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟู และประเมิน ค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจ ตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ
โดยจะประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมัน ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ,การกำหนดหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด SPRC และช่องทางอื่นๆ และติดตามผลการการชดใช้ค่าเสียหาย และการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม
“กระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถในการขจัดคราบน้ำมันและดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างทักษะและความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ของแต่ละหน่วยให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการปฏิบัติการฯ พร้อมเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลภาคเอกชนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อปกป้องท้องทะเลไทยให้มีความปลอดภัย ไร้มลพิษทางน้ำ พร้อมรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้คงอยู่ คู่ประชาชนชาวไทย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป” นายภูริพัฒน์ระบุ
อ่านประกอบ :
SPRC แจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลซ้ำ ส่ง ‘ทีมตอบโต้ฯ’ ระงับเหตุ-ประกาศภาวะฉุกเฉิน Tier 1
SPRC เผยหยุดการรั่วไหลน้ำมันดิบในทะเลได้แล้ว-คพ.คาด 1.8 แสนลิตรเคลื่อนสู่หาดแม่รำพึง