สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สนธิกำลังกรมปศุสัตว์ เข้าตรวจค้นห้องเย็นแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยตรวจสอบพบเนื้อสุกรที่ไม่มีเอกสารการนำเข้าจาก กรมปศุสัตว์ และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และได้ทำการอายัดสินค้าไว้ จำนวน 945 กล่อง น้ำหนัก 21,473 กิโลกรัม ประเมินมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท นั้น นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เร่งขยายผล โดยให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ล่าสุดวานนี้ (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ภายใต้การอำนวยการของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายมเหสักข์ พันธุ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายให้นายวรพจน์ ไม้หอม รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และคณะพนักงานสืบสวน จึงได้ขยายผล โดยได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่การท่าเรือ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ร่วมกันตรวจค้นบริเวณท่าเรือแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก พบและอายัดตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้สินค้า เนื่องจากมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่ามีเนื้อสัตว์ที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับมีการตรวจเอกสารการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพบว่าไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงสุ่มตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ปรากฏว่า
1. ในรายการใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงเป็นปลาทูลังทั้งตัวแช่แข็ง (Frozen Food Product Frozen Indian Mackerel) ปริมาณ 84,000 กิโลกรัม ราคา 2,792,638.80 บาท แต่ผลการตรวจค้นพบเป็นสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ ขาไก่ (Frozen Chicken Feet) ประเทศกำเนิด Iran อัตราอากร 40% จำนวน 3 ตู้สินค้า น้ำหนักตู้ละ 29,000 กิโลกรัม อันเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงการเสียภาษี และลักลอบนำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย
2. รายการที่ใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงเป็นปลาเฮก (Merluccius hubbs) ทั้งตัวแช่เข็ง (ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามประมวลรัษฎากร ปริมาณ 28,000 กิโลกรัม ราคา 1,070,511.54 บาท
ผลการตรวจค้นพบเครื่องในโค (ปากหนาม) (Frozen Beef Bffals Lips) ปริมาณ 28,000 กิโลกรัม ประเทศกำเนิด Paraguay อัตราอากร 30% อันเป็นการสำแดงเท็จและหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และลักลอบนำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย การนำเข้าสินค้าข้างต้น ต้องได้รับใบแจ้งอนุญาตนำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร (ร.6) จากกรมปศุสัตว์ แต่ผู้นำเข้าไม่มีใบแจ้งอนุญาตฯ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการยึดสินค้าเพื่อดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป
กรณีดังกล่าวเบื้องต้นอาจเป็นความผิดฐานยื่น หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารหรือข้อมูลตาม มาตรา 202 มาตรา 243 มาตรา 244 มาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ทำการอายัดตู้สินค้าต้องสงสัยไว้เพื่อตรวจสอบอีก จำนวน 6 ตู้สินค้า โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการติดตามตรวจสอบและขยายผลเครือข่ายขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ต่อไป