กทม. พร้อมขยายศูนย์พักคอยฯ (CI) เพิ่มอีก 13 แห่งกว่า 1 พันเตียง รับมือการแพร่ระบาด พร้อมเปิดจองวัคซีนเข็ม 4 ได้ที่แอป QueQ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) วัดสะพาน เขตคลองเตย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร ผู้อำนวยการเขตคลองเตย เจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสะพาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาล มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งข้อมูลวันที่ 15 ก.พ.65 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 3,180 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย โดยขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ กทม. ร้อยละ 94.13 โรงพยาบาลสนาม ร้อยละ 73.02 Hospitel ร้อยละ 87.74 และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ร้อยละ 45.16 (ข้อมูลวันที่ 15 ก.พ.65 เวลา 23.59 น.) กรุงเทพมหานครจึงได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตพิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯ ซึ่งเปิดดำเนินการอยู่แล้วมีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่าร้อยละ 80
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.พ.65 เวลา 8.00 น. กรุงเทพมหานครมีศูนย์พักคอย (Community Isolation) ทั้งสิ้นจำนวน 27 แห่ง มีเตียง 3,481 เตียง มีผู้ครองเตียง 1,572 ราย คงเหลือ 1,909 เตียง ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการเปิดเพิ่มเติมอีก 13 แห่ง สามารถเพิ่มเตียงได้อีก 1,441 เตียง หากดำเนินการเสร็จสิ้นจะทำให้กรุงเทพมหานครมีศูนย์พักคอย (Community Isolation) รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 แห่ง มีเตียงรวมทั้งสิ้น 4,922 เตียง และยังมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตดุสิต บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5 – 12 ปี ได้ 52 เตียง นอกจากนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่งได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel โดยปัจจุบันมีเตียงรองรับได้ทั้งหมด 3,426 เตียง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 ม.ค.2565ถึง 1,072 เตียง คิดเป็นร้อยละ 45.5 ซึ่งกทม.ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ หากพบว่าตนเองติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยโทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือสายด่วนโควิด (EOC) 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับการประเมินอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด
สำหรับในส่วนของศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ณ วัดสะพาน เขตคลองเตย ซึ่งเปิดรับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 500 เตียง ขณะนี้มีผู้ครองเตียงแล้ว 439 เตียง คงเหลือเตียง 61 เตียง เป็นประชาชนในพื้นที่เขตคลองเตย 114 ราย เขตอื่นๆ 325 ราย เป็นคนไทย 244 ราย เป็นคนต่างชาติ 195 ราย (ข้อมูลวันที่ 16 ก.พ.65 เวลา 09.00 น.) มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสิรินธร เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย ร่วมกับสำนักงานเขตคลองเตยในการบริหารจัดการสถานที่และวางกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยและความสะอาด ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ยังสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่เขตคลองเตยได้
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ประชาชนกรุงเทพฯได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 จำนวน 9,461,316 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 8,766,644 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 4,252,210 ราย กรุงเทพมหานครพร้อมให้บริการวัคซีนเข็มที่ 4 โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนได้ที่แอปพลิเคชัน QueQ เลือก "ศูนย์ฉีดวัคซีน กทม.” เลือกสถานที่เข้ารับบริการ "กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม ปลอดโรคโควิด19" และยังสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ทั้ง 69 แห่ง และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา 90 วัน จากวัคซีนเข็มที่ 3 ก็จะมีการนัดหมายเพื่อรับวัคซีนเข็มที่ 4 ที่โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนและศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ที่ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนฯได้สะดวกต่อไป