‘หมอเฉลิมชัย’ เผยสถานการณ์โควิดอาจเบาใจเรื่องอัตราผู้เสียชีวิตได้ แต่ยังวางใจไม่ได้หลังตัวเลขผู้ป่วยหนักขยับตัว แนะผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว เร่งรัดฉีดเข็ม 3 ควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตให้ลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ blockdit.com ระบุถึงสถานการณ์โควิดปัจจุบันว่า นับตั้งแต่ไวรัสโอไมครอนปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นไวรัสกลุ่มน่ากังวล (VOC) ในวันที่ 26 พ.ย. 2564
ปัจจุบันโอไมครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกแทนที่สายพันธุ์เดลต้าเรียบร้อยแล้วนั้น ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่โอไมครอนระบาดทั่วโลก ทำให้เราทราบลักษณะต่างๆ ดังนี้
-
มีความสามารถในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและในจำนวนจุดสูงสุดมากกว่าเดลต้า เช่นที่พบในประเทศสหรัฐอเมริการ 1 ล้านรายต่อวัน อังกฤษ 2 แสนรายต่อวัน และญี่ปุ่น 1 แสนรายต่อวัน เป็นต้น
-
ไวรัสโอไมครอนดื้อต่อวัคซีน 2 เข็มชัดเจน โดยวัคซีนทุกบริษัทป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 0-30% ต้องฉีดเข็มที่ 3 จึงจะทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ 60-80% และลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่า 90%
-
ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงน้อยกว่าไวรัสเดลต้า ทำให้มีอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อคิดเป็นร้อยละต่ำกว่า
-
สำหรับในประเทศไทย ผู้เสียชีวิตมากกว่า 90% เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว หรือส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดยังไม่ครบ 3 เข็ม
-
ผู้เสียชีวิตดังกล่าว จะเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเฉลี่ย 7-14 วัน
จากข้อมูลดังกล่าว เราอาจจะเบาใจเรื่องร้อยละหรืออัตราของผู้เสียชีวิตได้ แต่เราไม่สามารถจะวางใจได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อนับเป็นรายคนแล้วจะน้อยเสมอไป
เพราะถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงมากนับหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ติดเชื้อจากเดลต้า อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีจำนวนคนเพิ่มมากกว่าได้ ทั้งที่ไวรัสโอไมครอนมีความรุนแรง และมีอัตราผู้เสียชีวิตคิดเป็นร้อยละน้อยกว่า
สำหรับวันที่ 15 ก.พ. เราเริ่มเห็นการขยับตัวของความรุนแรง เมื่อคิดเป็นรายคนชัดเจนขึ้น โดยที่จำนวนร้อยละของความรุนแรงยังคงต่ำอยู่ ได้แก่ 1) จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ขยับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 702 ราย และ 2) จำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 145 ราย
จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่เราไม่ควรยอมรับหรือยอมจำนวนที่จะให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะเราสามารถป้องกันหรือควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตได้ ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว
การเร่งรัดฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ให้ครบทุกราย จะเป็นเครื่องมือสำคัญมาก ในการควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยกว่าสมัยไวรัสเดลต้า ทั้งที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าสมัยไวรัสเดลต้าระบาด