ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่แนวทางปฏิบัติการแพทย์แผนไทยทางไกล และคลินิกออนไลน์ คุมการบริการให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของไทย มีผลถัดจากวันประกาศ 90 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์แผนไทยทางไกล หรือโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย (Thai traditional telemidicine) และคลินิกออนไลน์ พ.ศ. 2564 ระบุใจความสำคัญว่า เพื่อให้การบริการเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองผู้รับบริการให้รวดเร็ว เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และมติที่ประชุมคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยในการประชุมครั้งที่ 8/2564 วันที่ 23 พ.ย. 2564 ให้ออกประกาศกำหนดแนวทางปฏิบัติการแพทย์แผนไทยทางไกล หรือโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย และคลินิกออนไลน์ ดังนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ชื่อว่า “ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์แผนไทยทางไกล หรือโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย (Thai traditional telemidicine) และคลินิกออนไลน์”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย” หรือ “การแพทย์แผนไทยทางไกล” หมายความว่า เป็นการส่งผ่าน หรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์แผนไทย โดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งจากสถานพยาบาลภาครัฐและ/หรือเอกชนจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง โดยอาศัยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การปรึกษา คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ในกรอบแห่งความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ตามภาวะ วิสัยและพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ โดยความรับผิดชอบของผู้ส่งผ่านหรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแแพทย์นั้นๆ
“วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า เป็นวิธีการประยุกต์ใช้วิธีอิเล็กตรอนไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเป็นวิธีการข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และให้ความหมายรวมไปถึงการประยุกต์วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก คลื่นไฟฟ้าสื่อสาร เสียง ภาพ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีการต่างๆ เช่นว่านั้นด้วย
“สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลที่เป็นของภาครัฐ และ/หรือเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“การให้บริบาลผ่านระบบบริบาลโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย” หรือบริบาลโดยโทรทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล ซึ่งต้องรับผลอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นด้วย
“ผู้รับบริบาล” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับ “โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย” หรือ “การแพทย์แผนไทยทางไกล”
“คลินิกออนไลน์” หมายถึง สถานพยาบาลตามที่กฎกำหนด
“การบริบาล” หมายความว่า กระบวนการเพื่อผลแห่ง “โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย” หรือ “การแพทย์แผนไทยทางไกล”
ข้อ 4 การให้บริบาลผ่านระบบบริบาลโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย หรือบริบาลการแพทย์แผนไทยทางไกล จะต้องเป็นไปตาม
(1) เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2563 และเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ พ.ศ. 2560
(2) เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2557 และที่แก้ไข และเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไข
(3) เกณฑ์หรือแนวทางอื่นที่สภาการแพทย์ไทยกำหนดขึ้น
ข้อ 5 ผู้ให้บริบาลจะต้องทำ ดังนี้
(1) ต้องปฏิบัติการทางการแพทย์ตามข้อ 4 อย่างเคร่งครัด
(2) ควรได้เรียนรู้เทคนิคที่จำเป็น ตลอดจนข้อจำกัดของโทรเวชทางการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนไทยทางไกล
ข้อ 6 ผู้ให้บริบาลและผู้รับบริบาลพึงตระหนักรู้ และต้องรับทราบถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องรับทราบถึง
(1)ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ปรากฏตามคำประกาศสิทธิ และข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยที่ประกาศเมื่อ 12 ส.ค. 2558 แต่ข้อ 7 และข้อเท็จจริงทางการแพทย์อื่นที่อาจมีขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย
(2)เฉพาะบางโรคหรือบางภาวะเท่านั้นที่เหมาะสมในการใช้โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล
(3)สิทธิของผู้ให้บริบาลและผู้รับบริบาล ในการปฏิเสธการใช้โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล
(4)การใช้เครื่องมือ หรือโปรแกรม หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence AI) ร่วมกับการใช้โทรเวชทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ กฎหมายที่เกี่ยวกับยา เป็นต้น
ข้อ 7 นอกจากข้อจำกัดตามข้อ 6 แล้วโทรเวชทางการแพทย์แผนแพทย์ไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล ผู้ให้บริบาลและผู้รับบริบาล จะต้องทำภายใต้ระบบสารสนเทศที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยด้านสารสนเทศที่เป็นสากล และได้รับการดูแลให้พร้อมใช้งานและพร้อมรับการตรวจสอบ ประกอบด้วย
(1)การยืนยันตัวตนของผู้ให้บริบาลว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์จริง
(2) การยืนยันตัวตนของผู้รับบริบาล จากระบบการให้บริบาลผ่านระบบบริบาลโทรเวชทางการแพทย์แผนไทยหรือบริบาลการแพทย์แผนไทยทางไกล ควรดำเนินการใต้มาตรฐานด้านสารสนเทศ ที่หน่วยงานรับผิดชอบที่กำกับดูแลเรื่องการยืนยันตัวบุคคลของรัฐเป็นผู้กำหนด
(3)ระบบสารสนเทศที่ใช้ดำเนินการโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 8 คลินิกออนไลน์ และการให้บริบาลผ่านระบบบริบาลโทรเวชทางการแพทย์แผนไทยหรือบริบาลการแพทย์แผนไทยทางไกล จำเป็นต้องดำเนินการผ่านสถานพยาบาลเท่านั้น
ข้อ 9 การปรึกษาระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์กับบุคลากรสาธารณสุขอื่นที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ถือว่าเป็นการให้บริบาลโทรเวชทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยทางไกล ตามประกาศนี้