ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงิน ‘การก่อการร้าย-แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง’
...........................
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ ได้แก่
1.กำหนดกระบวนการส่งเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พิจารณากำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
2.กำหนดให้นำมาตรการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินมาใช้โดยอนุโลมกับทรัพย์สินที่โอนเข้าบัญชีที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือเป็นผู้ที่มีการกระทำ อันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
3.กำหนดให้ผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้สำนักงาน ปปง. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาอนุญาตให้เข้าถึงหรือดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน หรือเพื่อการอื่นใดที่จำเป็น
4.กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
5.กำหนดให้หลักเกณฑ์ ระเบียบ และประกาศของคณะกรรมการ ปปง. ที่ออกตามพระราชบัญญัติที่กำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะใช้บังคับได้
6.กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น และกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจเรียกพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบตามหน้าที่
7.กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่าง ๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกพยานหลักฐานของเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
สำนักงาน ปปง. ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้รองรับกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering: FATF) กำหนด
อย่างไรก็ตาม จากรายงานการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทย พ.ศ. 2560 พบว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามข้อ 1. ยังมีข้อบกพร่องที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการประกาศและการเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
การระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้ที่ถูกประกาศรายชื่อดังกล่าว และการเข้าถึงทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ปปง. ในการขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายในบางประการยังไม่ชัดเจนและครบถ้วนเพียงพอ อันอาจส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควรอีกด้วย
ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้ต่อไป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลกในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายและก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบกิจการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการ ปปง. ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 2. และเห็นชอบให้สำนักงาน ปปง. เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) และส่งหนังสือรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงาน ปปง. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 (เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562) แล้ว