กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ-ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับนานแล้ว แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังฉีดเข็มสอง 3 เดือน ช่วยป้องกันติดเชื้อโอไมครอนได้ 68% ส่วนการป้องกันเสียชีวิตสูงถึง 96%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา แถลงสถานการณ์โควิด กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มลดลงจาก 2 สัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ทางเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งอาจมีการแพร่เข้ามาทางชายแดนไทยได้จึงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ส่วนประเทศไทย วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 10,470 ราย จากค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อในรอบ 7 วัน ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตยังคงตัว ทั้งนี้ยังพบการติดเชื้อในลักษณะกลุ่มก้อน ทั้งในชุมชน ครอบครัว และสถานที่เสี่ยงต่างๆ โดยปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อมาจากการสัมผัสใกล้ชิด ติดจากคนในครอบครัว เพื่อนที่ทำงาน 47.3% และสถานที่เสี่ยง 48% จึงยังคงเตือนภัยโควิดในระดับ 4 ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงเข้าสถานที่เสี่ยง คือ สถานที่ปิดระบายอากาศไม่ดี สถานที่รวมกลุ่มคนทำกิจกรรมต่างๆ โดยพื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อสูง คือ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว
จากข้อมูลการติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า การติดเชื้อในเด็กอายุ 0-9 ปี และ 10-19 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลการระบาดในสถานศึกษาขณะนี้ ซึ่งกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีน โดยสามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ได้ในกลุ่มอายุ 5 ปีขึ้นไป และวัคซีนซิโนแวค วัคซีนซิโนฟาร์มในกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไป
ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 12 ราย ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดครบสองเข็มมาเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จึงควรมารับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้จริงของวัคซีนโควิดในประเทศไทย ได้มีการศึกษาระดับประเทศในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อ ทั้งประวัติการฉีดวัคซีนและอาการที่เกิดขึ้น พบว่า ภาพรวมผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อได้ 65% ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 88% ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพรายเดือนพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปจนถึง ธ.ค. ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลงเหลือเพียง 50% แต่การป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลดลงไม่มาก ยังสูงที่ 79% ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 พบประสิทธิผลสูงขึ้นกว่า 2 เข็ม โดยป้องกันการติดเชื้อได้สูง 94% ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 98%
สำหรับการศึกษาประสิทธิผลการใช้จริงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงต.ค.-ธ.ค. 2564 ที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และช่วงเดือน ม.ค. 2565 ที่มีการระบาดของโอไมครอน พบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2564 ป้องกันการติดเชื้อได้ 71% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 97% แต่พอเดือน ม.ค. 2565 พบว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ แต่ยังป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 89% สำหรับการฉีดเข็ม 3 ช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2564 ป้องกันการติดเชื้อได้ 93% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 99% ส่วน ม.ค. 2565 การป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือ 68% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 96% ทั้งนี้การฉีดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา พบว่าประสิทธิผลดีไม่แตกต่างกัน
ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3 เดือน จึงควรรีบมาฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ก็ได้โดยเร็ว ร่วมกับการใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา COVID Free Setting การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่ปิดอับระบายอากาศไม่ดี คนหนาแน่น และตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป