ดีเดย์ 1 ก.พ. ‘ฟอกไต’ ฟรีผ่านสิทธิบัตรทอง ขณะที่ ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2566 วงเงิน 2.09 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบถึงความคืบหน้าการให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรีในทุกกรณี โดยจะเริ่มการให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าว เพื่อลดภาระประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยไตในระบบบัตรทองอยู่ 63,694 คนทั่วประเทศไทย ซึ่งเดิมตามขั้นตอนการรักษาจะเริ่มการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง และจะเข้ารับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม เมื่อผู้ป่วยมีสภาพร่างกายและมีเงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่า 6,500 คนที่ไม่เข้าเงื่อนไข และต้องเสียค่าใช้จ่ายเองครั้งละ 1,500 บาท ดังนั้นรัฐบาล จึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยนโยบายล้างไตฟรีทุกกรณี
เคาะกรอบ 2.09 แสนล้าน สำหรับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 66
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ครม.ยังอนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินรวม 209,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,152 ล้านบาท
แบ่งเป็น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 207,093 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท จากปัจจัยเงินเฟ้อด้านต้นทุนบริการ ปริมาณบริการที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มปกติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่ และเพื่อตอบสนองนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉิน และงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 665 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างงบประมาณของกองทุนฯในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วยรายการบริการหลัก 10 รายการ โดยมีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การยุบรวมรายการค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2565 เข้ากับ รายการค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว และ รายการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ ค่าบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และวิธี Antigen Test Kit (ATK) และค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด รวมถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนหรือการให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด ที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงรายการย่อยที่ใช้คำนวณอัตราค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยได้ย้ายรายการย่อย เกี่ยวกับบริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่เพิ่มขึ้นไปรวมในงบบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง(โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) คงเหลือรายการย่อย 6 รายการ ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป , บริการผู้ป่วยในทั่วไป , บริการกรณีเฉพาะ ,บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ บริการแพทย์แผนไทย และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน
นอกจากนี้ข้อเสนองบกองทุนฯที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ 2566 ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการที่ยังเข้าถึงบริการได้น้อยรวม 26 รายการ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ยกระดับหลักประกันสุขภาพและการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เช่น การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการขยายการให้บริการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยในปี 2566 จะมีการขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม