‘ธปท.’ ออก ‘ธนบัตรพอลิเมอร์’ ชนิดราคา 20 บาท ไม่ดูดซับสิ่งสกปรก-ทนทาน-ลดการปลอมแปลง เริ่มใช้ 24 มี.ค.นี้
................................
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่เปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็นพอลิเมอร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ สะอาด และใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เป็นธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย จึงทำให้ธนบัตรมีสภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น
ทั้งนี้ ธนบัตรพอลิเมอร์ผลิตจากพลาสติกแบบพิเศษ ซึ่งไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก และมีความทนทานในการใช้งานมากกว่าธนบัตรกระดาษ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะเฉพาะของธนบัตรพอลิเมอร์ดังกล่าว จึงช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรที่ชำรุด และเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยสอดคล้องกับธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศที่ได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น
สำหรับธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาท ที่หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท
รวมถึงมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติมสำหรับธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท คือช่องใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน โดยช่องใสด้านล่างที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง นอกจากนี้ มีการเพิ่มจุดสังเกตสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาในบริเวณช่องใสด้านบนที่เป็นทรงหยดน้ำ โดยมีตัวเลข “20” ขนาดเล็ก ดุนนูน เพื่อให้สัมผัสได้ง่ายขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท จะเริ่มออกใช้หมุนเวียนในวันที่ 24 มี.ค.2565 นี้ โดยประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง สำหรับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. กล่าวว่า จากปัญหาธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ชนิดกระดาษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีคุณภาพความสะอาดไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ ธปท. ต้องการเห็น ประกอบกับการที่ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท มีการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก ทำให้อายุการใช้งานที่ควรจะอยู่ที่ 2 ปี มีการใช้งานจริง 3 ปี กว่าจะเข้าสู่กระบวนการทำลาย ส่งผลให้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ชนิดที่เป็นกระดาษมีความสกปรกพอสมควร
ดังนั้น ธปท.จึงเข้าไปศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาความสะอาดของธนบัตรได้ และพบว่าในหลายประเทศ เช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม หันมาใช้ธนบัตรแบบพอลิเมอร์มากขึ้น โดยเฉพาะธนบัตรชนิดที่มีราคาต่ำเพื่อใช้ในการหมุนเวียน ซึ่งผลที่ออกมา คือ เป็นที่ยอมรับของประชาชน มีความสะอาดมากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของพอลิเมอร์ที่ไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก ทำให้มีอายุการใช้งานมากกว่าชนิดกระดาษ 2.5 เท่า
นายสมบูรณ์ ยังระบุว่า ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท ที่ ธปท.จะผลิตและนำออกใช้ทดแทนธนบัตรฯที่เป็นกระดาษนั้น จะมีความคงทนมากกว่า มีเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลง และมีคุณลักษณะที่บ่งบอกให้ผู้พกพร่องทางสายตารู้ว่าเป็นธนบัตรชนิด 20 บาท
“ธนบัตรแบบกระดาษชนิดราคา 20 บาท ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังใช้งานได้ และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงออกออกธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มีความคุ้นเคยกับธนบัตรที่กำลังจะออกและใช้ธนบัตรได้อย่างมั่นใจ” นายสมบูรณ์ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ บาลัน ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์และบริหารกิจการธนบัตร ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าต้นทุนการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์จะสูงกว่าธนบัตรชนิดที่เป็นกระดาษ 30% แต่เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานนาน 5 ปีขึ้นไป เทียบกับธนบัตรชนิดกระดาษที่มีอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปี เท่านั้น ส่งผลให้โดยรวมแล้วต้นทุนการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์จะต่ำกว่าธนบัตรชนิดกระดาษ และยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย
นายไพโรจน์ กล่าวถึงแนวโน้มการใช้ธนบัตรของประชาชนในยุคดิจิทัล ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยแต่ละปี ธปท.มีการพิมพ์ธนบัตรใหม่ 1,800 ล้านฉบับ ในจำนวนนี้เป็นธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 600 ล้านฉบับ ขณะที่การผลิตธนบัตรชนิดราคาต่างๆนั้น ธปท.จะเน้นในเรื่องความยืดหยุ่น และคำนึงถึงความต้องการใช้ของประชาชน
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้งานธนบัตรชนิดราคา 20 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณธนบัตรทั้งระบบ หรือคิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564)