สธ.เผยแผนเผชิญเหตุหลังเปิดเรียน On site หากพบเด็กติดโควิด 1-2 ห้อง ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน เว้นแต่มีคลัสเตอร์ พร้อมย้ำรักษามาตรการ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก คัดกรองเข้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงเดือน ม.ค.2565 พบว่า มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 13-19 ปี จะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนความรุนแรงของโรคพบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564- วันที่ 18 ม.ค.2565 มีเด็กอายุตำ่กว่า 18 ปี เสียชีวิต 1 คนถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนการรับวัคซีนของเด็กนั้น พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี จำนวน 5 ล้านคน ได้รับเข็ม 1 จำนวน 4.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88.44 เข็ม 2 จำนวน 4.09 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 79.66 และมีการขอรับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี นั้น วัคซีนเด็กจะเข้ามาปลายเดือน ม.ค.65
นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงมาตรการป้องกันในโรงเรียนว่า เมื่อโรงเรียนเปิดให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนแล้ว จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการคัดกรอง ป้องกันโรค มีแผนเผชิญเหตุ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าเรียน ลดความแออัดในห้องเรียน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ ครู นักเรียน ฉีดวัคซีน การรับประทานอาหาร ต้องมีช้อนกลางส่วนตัว เป็นต้น โดยขณะนี้ ศบค.ชุดเล็ก ได้อนุมัติให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนได้หรือ การเรียนแบบออนไซด์ เกือบทุกพื้นที่แล้ว ขอให้โรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน
สำหรับแผนเผชิญเหตุเมื่อโรงเรียนพบการติดเชื้อ ควรปฏิบัติดังนี้ กรณีพบการติดเชื้อ 1 ห้องเรียน จำนวน 1-2 คน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ ไม่ต้องหยุดเรียนทั้งโรงเรียน , กรณีติดเชื้อมากกว่า 2 คนและมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด ไม่ปิดทั้งโรงเรียน งดกิจกรรมรวมกลุ่มทุกกิจกรรม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ , กรณีพบเด็กติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ให้จัดศูนย์กักตัวในโรงเรียน การพิจารณาปิดโรงเรียนให้ทำโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
“เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะติดเชื้อจากคนในครอบครัว ดังนั้นจะต้องทำให้ครอบครัวมีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมีภูมิคุ้มกันสูงสุด โดยจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สะอาด ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในบ้านบ่อยๆ และปฏิบัติตนเองให้ปลอดภัย ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ถ้าไปพื้นที่เสี่ยงมา ขอให้สวมหน้ากากอนามัยในบ้าน ไม่รวมกลุ่มกับเด็ก ผู้สูงอายุ ทั้งนี้เราพบว่า ยังมีเด็กนักเรียนร้อยละ 10 ที่ยังไม่รับวัคซีน ขณะที่ผู้ปกครอง ก็ยังไม่รับวัคซีนอีกร้อยละ 10 เช่นกัน กรณีเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและจำเป็นต้องไปโรงเรียน ขอให้ผู้ปกครองติดต่อขอรับวัคซีน ซึ่งกระทรวงจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอ” นพ.สราวุฒิ กล่าว
ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทุกภาคส่วนยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ กรมอนามัยมีความห่วงใยใน 2 ประเด็นด้วยกัน เนื่องจากจะเป็นการรวมกลุ่มของญาติพี่น้อง และกลุ่มของนักเรียน คือความปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ก.พ. 2565 เนื่องจากประเพณีตรุษจีนที่สืบต่อกันมา จะมีการกลุ่มของญาติพี่น้อง ทั้งวันไหว้ วันจ่าย และวันเที่ยว โดยทั้ง 3 วันนี้ สมาชิกทุกคนในครอบครัวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเด็นการเปิดเรียนแบบ On-Site นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดทั้ง 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม ที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้นข้น และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุด้วยเช่นเดียวกัน
"ดังนั้น ในช่วงของการกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมทั้งในเรื่องของเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ หรือการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียน On-site จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) ขณะที่สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นระยะ ๆ หากพบว่าตนเองเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK และขอความร่วมมือในการเข้ารับวัคซีน ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน ทุกที่ ทุกโอกาส และทุกเทศกาล" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลมงคลของคนไทยเชื้อสายจีน อาจมีพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่มีความสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 ได้ เช่น มีการรวมญาติ พบปะสังสรรค์ทั้งในบ้าน หรือร้านอาหาร รวมถึงการ เดินทางไปตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อซื้อชุดเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตลอดจนการเดินทางไปศาสนสถานหรือศาลเจ้า เพื่อไปขอพรหรือการไหว้เจ้า จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1) วันจ่าย : ควรวางแผนการซื้อและใช้เวลาให้สั้นที่สุด เลือกซื้อสิ้นค้าสดใหม่ จากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่มีการประเมิน Thai Stop COVID 2 Plus หรือจากร้านค้าที่มีระบบออนไลน์ แต่หากต้องการจับจ่ายในตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง เลี่ยงจุดแออัด 2) วันไหว้ : ควรล้างวัตถุดิบให้สะอาด ปรุงอาหารสุกทุกเมนู หากทิ้งอาหารไว้นานหลายชั่วโมงให้อุ่นอาหารอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค ลดการเผากระดาษ ใช้ธูปสั้น หรือธูปไฟฟ้า เลี่ยงการปักธูปลงในอาหารโดยตรง รวมถึงจัดสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมทั้งสวมหน้ากากตลอดเวลาขณะที่ทำกิจกรรม และ 3) วันเที่ยว : ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง เลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หากมีการใช้จ่าย เลือกใช้ระบบออนไลน์ เลือกใช้บริการจากสถานประกอบการ แหล่งท่องเที่ยวที่มีสัญลักษณ์ Thai Stop COVID 2 Plus หรือ SHA+ และเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที