'หมอมนูญ'ชี้ความรุนแรงของโอไมครอนลดลง คาดอาการ 'Long Covid' รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ผู้สูงอายุ ป่วยเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ยังเสี่ยงรุนแรงถึงตาย แนะฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่งพบเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ติดง่ายมาก แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศในเวลาไม่ถึง 3 เดือน มีคนวิตกกังวลว่าในอนาคตจะมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวนมากมีผลข้างเคียงระยะยาว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Long Covid
คำจำกัดความของ Long Covid ส่วนใหญ่นับเวลาของอาการที่ยังตกค้างอยู่หลังการติดเชื้อมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจะมี Long Covid มากน้อยแค่ไหน
จากการดูคนไข้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ก่อนหน้านั้นในระยะต้น บางคนไอ หอบเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ท้องเสีย ผื่นขึ้น ตาแดง เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดอาการรุนแรงเพราะสามารถกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง ตับ ไต ลำไส้ ผิวหนัง ซึ่ง 30% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า หลังจาก 3 เดือนไปแล้ว พบว่ามีอาการ Long Covid เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ มึนงง ไม่สดชื่น นอนไม่หลับ สมองล้า ความจำไม่ดี ความจำสั้น ไม่มีสมาธิ มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด ใจสั่น แน่นหน้าอก ท้องเสีย ท้องอืด ผมร่วง
โดยส่วนตัวคิดว่า Long Covid จากสายพันธุ์โอไมครอน น่าจะพบน้อยกว่าเดลต้าแน่นอน โดยดูจากผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีอาการเบาๆ รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้ามาก ส่วนใหญ่เป็นที่ทางเดินหายใจส่วนบน ในลำคอและจมูกมากกว่าที่อื่น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ท้องเสียพบน้อย ความรุนแรงลดลงใกล้เข้ากับเชื้อโคโรนาไวรัสดั้งเดิม 4 ชนิดที่ทำให้เด็กป่วยเป็นไข้หวัด เป็นโรคประจำถิ่นมากว่า 50 ปีแล้ว เป็นเองหายเอง แต่อาจมีอาการรุนแรงได้ในผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เมื่อติดเชื้อโอไมครอน ขอให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก และคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เมื่อถึงเวลาฉีดเข็มกระตุ้น รีบไปฉีดให้เร็วที่สุด