กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดผลทดสอบ 8 สูตรวัคซีนโควิดของไทย เกือบทุกสูตรสู้เดลต้าได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเจอโอไมครอนกลับภูมิลดลง ย้ำฉีดวัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ แต่การฉีดเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันโอไมครอนได้ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อโควิดสายพันธุ์เดลต้าและโอไมครอนว่า การทดสอบนี้ เป็นการทดสอบที่ใช้วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) โดยใช้ไวรัสตัวเป็น ๆ ที่เพาะเชื้อได้จำนวนมากพอมาทดสอบกับน้ำเลือด หรือซีรั่ม ของคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และนำมาปั่นแยกเอาน้ำเลือดออกมา ก่อนใส่ลงไปในจานทดลองที่มีเชื้อไวรัสโอไมครอนอยู่ โดยจะเจือจางซีรั่มไปเรื่อยๆ จนเหลือค่าไวรัสครึ่งหนึ่ง หรือที่ระดับ 50 จึงหยุด ถือว่าเป็นการเจือจางในระดับสุดท้ายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
จากข้อมูลการทดสอบทั้ง 8 สูตรวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ประกอบด้วย สูตรซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์, ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า, แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนแวค+ไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์, ไฟเซอร์+ไฟเซอร์ และซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ไม่ได้รวมถึงการทดสอบสูตรซิโนแวค-ซิโนแวค เนื่องจากมีการเปลี่ยนเป็นสูตรไขว้ในภายหลัง ซึ่งกลุ่มฉีดซิโนแวค 2 เข็มได้ฉีดเข็มกระตุ้นกันไปจำนวนมากแล้ว จึงแทบไม่มีเหลือแล้ว
ในการเก็บเลือดหลังจากฉีดวัคซีนทั้ง 8 สูตรไปแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับภูมิคุ้มกันมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้ พบว่า เกือบทุกสูตร ภูมิคุ้มกันในเลือดที่เคยต่อสู้กับเดลต้าได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อมาเจอกับโอไมครอนกลับลดลงทุกกรณี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่เคยมีว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสน่าจะหลบวัคซีนได้มาก และหลายประเทศมีการทดสอบก็ได้ผลใกล้เคียงกัน
สำหรับผลจากคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม กับกลุ่มที่ฉีด 3 เข็ม เพื่อดูค่าไตเติลของเชื้อโควิดนั้นยังไม่ทราบว่าค่าไตเติลจะต้องมี 1 ต่อเท่าไหร่ แต่ตามหลักเชื้อโรคทั่วไปจะต้องอยู่ที่ 1 ต่อ 10 ก็จะป้องกันโรคได้
ดังนั้นเมื่อผลออกมาพบว่าคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตามพบค่าไตเติลขึ้นมาปริ่มๆ ไม่ได้สูงมากนัก กล่าวคือป้องกันโอไมครอนได้ไม่มาก โดยไฟเซอร์ 2 เข็ม ขึ้นมา 19.17 แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ขึ้นมา 23.81 ส่วนสูตรซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า ขึ้นมา 11.63 ขณะที่สูตรซิโนแวค + ไฟเซอร์ขึ้นมา 21.70 และสูตร แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ ขึ้นมา 21.21
ส่วนกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ หรือสูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันขึ้นมาค่อนข้างดี ตั้งแต่ 71-200 ขึ้นไป
นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า อันนี้คือตัวเลขภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ แต่กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นไม่ได้มีแค่ภูมิในน้ำเลือดเท่านั้น แต่ยังมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ก็จะออกมาช่วยกันจัดการ ทั้งนี้เมื่อเทียบการจัดการเชื้อเดลต้า กับโอไมครอนนั้นลดลงไป อย่างเช่น สูตรซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า เดิมเคยจัดการกับเดลต้าได้ 201 พอเป็นโอมิครอนเหลือเพียง 12 เท่ากับว่าหายไป 17 เท่า ลดลงค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำว่า วัคซีนทุกสูตรทำให้ภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ต่อโอไมครอนลดลง แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะป้องกันโอไมครอนได้ดี และต้องติดตามการคงอยู่ของระดับภูมิคุ้มกันในระยะต่อไป ซึ่งการฉีดวัคซีนทุกสูตรยังช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วยในทุกสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหาเลือดมาตรวจและคาดว่าจะเริ่มทดสอบได้ในเร็วๆ นี้ และหลังจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามการทดสอบว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้กี่เดือน
ส่วนกรณีติดโอไมครอนแล้ว ภูมิคุ้มกันหลังป่วยจะจัดการเดลต้าได้หรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลประวัติเรื่องวัคซีนอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ดังนั้นขอเวลาในการทดสอบ ก่อนจะรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบต่อไป
สำหรับกรณีจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลเท่าที่ดูก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง แต่ก็ต้องติดตามอีกสักระยะ สิ่งหนึ่งที่พบตรงกันในทีมวิชาการ คือ วัคซีนที่หวังจะฉีดปีละครั้งกรณีโควิดป้องกันไม่ได้นานขนาดนั้น ป้องกัน 1 ปีได้หรือไม่ก็ยังไม่ใช่ ยกเว้นว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นก็อาจจะไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยๆ อาจปีละครั้ง แต่นั่นต้องเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่ได้ป่วยมากขนาดนี้ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยังป่วยมากอยู่