'โฆษกรัฐบาล' เผย นายกฯ เรียกพบ 'อธิบดีกรมปศุสัตว์' ด่วน สั่งติดตามความคืบหน้าแก้โรค ASF-หมูแพง ตั้งวอร์รูม สื่อสาร ชี้แจงประชาชนได้ทราบการทำงาน-แก้ปัญหาในทุกวัน 'เฉลิม' สั่งปลัดกระทรวงฯตั้งกรรมการสอบ 'อธิบดีกรมปศุสัตว์' แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้ น.สพ.รวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร หลังจากที่ไทยมีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรียังได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมู โดยขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุและเร่งรักษาตามสาเหตุอาการตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมู ในการป้องกันเบื้องต้น ระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมทั้ง เปิดรับช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขและลดความเสียหายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาด้วย
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการกรมปศุสัตว์ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็เร่งศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบในการหารือ นายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทุกอย่างให้ครบเพื่อลด ความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งปัญหาหมูราคาแพง พร้อมแนะอธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดตั้ง Warroom สื่อสาร ชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีการพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์รายงานข้อเท็จจริงการปฏิบัติงาน โดยละเอียดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาตรการตามมาตรการป้องกันโรค ASF มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยสามารถปลอดเชื้อ ASF มานานกว่า 3 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นพบว่ามีการระบาดหนัก
“ขอย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราป้องกันอย่างดีที่สุด เพราะหากเราไม่ดำเนินการป้องกันแต่แรก จะเกิดการระบาดทั้งประเทศมากกว่านี้ แต่เมื่อมีการตรวจพบเชื้อ ก็ได้เรียกประชุมด่วนและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกรมปศุสัตว์จะแจ้งไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ต่อไป
นายเฉลิมชัย ยืนยันว่า เราไม่ได้ปกปิดการพบโรค ASF และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปิดบัง ไม่มีใครอยากให้พี่น้องประชาชนบริโภคหมูแพง ไม่อยากให้ผู้เลี้ยงหมูขาดทุน แต่เมื่อมีจุดที่บกพร่อง ต้องดำเนินการตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะนี้กำลังให้กรมปศุสัตว์สรุปตัวเลข ข้อมูลเบื้องต้นได้รับรายงานว่าหมูหายไป 13% จึงมีมาตรการระยะสั้นห้ามส่งออกในช่วงเวลานี้
นายเฉลิมชัย ยังระบุว่า ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่าไม่เคยรับหนังสือรายงานการพบเชื้อ ASF เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดเจน
ส่วนการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินที่ผ่านมานั้น ได้นำไปดำเนินการในเรื่องของเครื่องมือป้องกันและทำลายเชื้อโรค ย่าฆ่าเชื้อ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ สำหรับเงินชดเชยเยียวยาของสุกรที่อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงของการติดโรค จะดำเนินการทำลายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย เนื่องจากเป็นการดูแลผู้เลี้ยงสุกรที่ต้นทุนน้อย และไม่มีความพร้อมในการดูแลฟาร์ม